นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กรณีขอให้ตรวจสอบกระบวนการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อ ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ประจำปี 2563 จำนวน 300 ล้านบาท ที่อาจกระทำผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกองทุนพัฒนาสื่อฯ โดยเชิญผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เข้าชี้แจง รวมถึงฝ่ายผู้ร้องเข้าให้ข้อมูล ทั้งนี้ ทางกรรมาธิการ ได้ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็นต่อกองทุนสื่อฯ ซึ่งคล้ายกับความเห็นของผู้ร้องเรียน โดยเฉพาะสถานะขององค์กรแสวงหากำไร จะจัดไว้ในประเภทนิติบุคคล หรือ องค์กรเอกชน

อย่างไรก็ตาม ในประกาศที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับทุนนั้น กลับนิยามความหมายทั้งสองคำไว้อย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นการขัดกันของเนื้อหาหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นการขยายความเกินกว่าที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติกองทุนสื่อฯ มาตรา 5(6) ซึ่งครอบคลุมเฉพาะ “การส่งเสริมบุคคล องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ..” โดยไม่ปรากฎคำว่า “นิติบุคคลอื่นๆที่จดทะเบียนในประเทศไทย” ที่เพิ่มเข้ามาในประกาศคุณสมบัติผู้ขอรับทุน

ด้านนายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ชี้แจงถึงที่มาการก่อตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เมื้อปี 2558 มีการจัดสรรทุนครั้งแรก ปี2560 ซึ่งขั้นตอนอำนาจเป็นไปตามมาตรา 21(7) ของพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 โดยนิยามคำว่า”สื่อ”นั้น ไม่ได้จำกัดแพลตฟอร์ม พร้อมกับเปิดกว้างคำว่า”ผู้ขอรับทุนสื่อ” เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่อยากเห็นสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ใช่การจำกัดกลุ่มผู้ทำสื่อ จึงอยากให้ผู้ร้องเกิดความสบายใจในประเด็นที่องค์กรแสวงหากำไร ไม่ควรเข้าข่ายรับทุนตามที่ร้องเรียนมา พร้อมยืนยันว่าการจัดสรรทุนของกองทุนสื่อ มีแนวปฏิบัติมาแล้ว 4 ปี และยังคงดำเนินการแบบเดิมโดยตลอด ขณะที่การเบิกจ่ายก็ยึดตามระเบียบ