หน้าแรกกระบวนการยุติธรรมบิ๊กตำรวจทรัพยากรฯ วอนสังคมมีสติ อย่าอคติ แจงระเอียดยิบ! นิยาม กม. สัตว์ป่า

บิ๊กตำรวจทรัพยากรฯ วอนสังคมมีสติ อย่าอคติ แจงระเอียดยิบ! นิยาม กม. สัตว์ป่า

เมื่อวานนี้ (9 มี.ค) พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ มังคละวัชร์ ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผกก.ฝอ.บก.ปทส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘Dirutdevan Mangalavach‘ กล่าวถึงประเด็นการดำเนินคดี นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรฝั่งตะวันตก จ.กาญจนบุรี และกระแสสังคมที่มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีดังกล่าว

พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ กล่าวว่า ในช่วงที่สังคมกำลังให้ความสนใจกับคดีนักธุรกิจใหญ่เข้าป่าล่าสัตว์ และถูกจับจ้องว่า “คนมีเงิน” จะรอดคดีมั้ย ตนในฐานะที่มีประสบการณ์ทำงานคดีประเภทนี้มานานพอสมควร เลยอยากจะถือโอกาสโหนกระแส เล่าประสบการณ์แบ่งปันความรู้​ที่มี โดยหวังว่าคนไทยจะมีความเข้าใจมากขึ้น​ และช่วยกันอนุรักษ์ปกป้องทรัพยากรสัตว์ป่ากันอย่างยั่งยืน ไม่เป็นไฟไหม้ฟาง พอคดีนี้เงียบก็ลืม โดยจะพยายามเขียนเป็นตอนๆ แต่ละตอนไม่ยาวมากนัก ถ้ามีคนสนใจก็จะเขียนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะขี้เกียจ หรือเขียนไปก็ไม่มีใครอ่าน

พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ กล่าวใน “ตอนที่ 1 : สัตว์ป่า แน่นอน” ว่า เสือดำเป็นสัตว์ป่า ใครๆ ก็ทราบ แต่ท่านทราบไหมว่าตามกฎหมาย คำว่า “สัตว์ป่า” คืออะไร กฎหมายหลักของไทยเกี่ยวกับสัตว์ป่า ก็คือ  พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งคำว่า “สัตว์ป่า” อยู่ในบทนิยามตาม มาตรา 4 หมายความว่า สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าสัตว์บกสัตว์น้ำสัตว์ปีกแมลงหรือแมง ซึ่งโดยสภาพธรรมชาติย่อมเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในป่าหรือในน้ำ และให้ความหมายรวมถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นทุกชนิดด้วย แต่ไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายพาหนะดังกล่าว สังเกตไหม ถ้าเราเอาความรู้สึกมาวัด บางอย่างมันไม่ใช่สัตว์ด้วยซ้ำ อย่าง “ไข่” ลักษณะทางกายภาพมันก็กลมๆ รีๆ ไม่ได้มีหัวมีหาง มีขา แต่กฎหมายก็กำหนดให้ถือว่าเป็นสัตว์ด้วย บางคนอาจมีคำถามว่า ถ้ามันไม่ได้อยู่ในป่า จะถือเป็นสัตว์ป่ามั้ย หรือถ้ามันไม่ได้อยู่ในป่าเมืองไทย มันอยู่ในป่าอเมซอน จะเป็นสัตว์ป่าตามกฎหมายไทยฉบับนี้มั้ย คำตอบคือ เป็นเพราะกฎหมายบอกว่า โดยสภาพธรรมชาติ แต่มีข้อยกเว้น ว่าไม่หมายความรวมถึงสัตว์พาหนะที่ได้จดทะเบียนทำตั๋วรูปพรรณตามกฎหมายพาหนะ

พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ กล่าวต่อไปว่า ตรงนี้แหละ ที่เพิ่มความซับซ้อนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ “ช้าง” เพราะตามธรรมชาติแล้ว ช้างคือสัตว์ป่า แต่ในสมัยก่อน ช้างเป็นสัตว์ที่ถูกนำมาใข้งานสารพัด ทั้งชักลากไม้ เป็นพาหนะ บรรทุกของ รวมถึงช้างคู่บารมีของพระมหากษัตริย์ ดังนั้น โบราณจึงมีการล้อมจับช้างจากในป่ามาใช้ประโยชน์ เมื่อมีการจับมากขึ้นจึงมีการออกกฎหมายมาควบคุม คือ พ.ร.บ. สำหรับรักษาช้างป่า พ.ศ. 2464 ทีนี้พอถูกจับจากป่ามาใช้ประโยชน์ ก็ต้องถูกนำมาขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะ ที่เรียกว่า “ตั๋วรูปพรรณ” ตามกฎหมายอีกฉบับคือ พ.ร.บ.สัตว์พาหนะพุทธศักราช 2482 ซึ่งถ้านำไปจดทะเบียนตั๋วรูปพรรณเป็นสัตว์พาหนะแล้ว ช้างตัวนั้นก็ไม่ถือเป็นสัตว์ป่าอีกต่อไป งาช้างซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของช้างตัวนั้น ก็ไม่ใช่ซากของสัตว์ป่า จึงทำให้กลายเป็นช่องว่าง นำงาช้างแอฟริกามาสวมสิทธิ์ อ้างว่าได้มาจากช้างบ้าน ก็คือช้างที่มีทะเบียนตั๋วรูปพรรณ

“ไทยเราถึงถูกกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะจากไซเตส ให้แก้ไขปัญหานี้ ทำให้เราต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมามากมาย ในแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ (NIAP -​National Ivory Action Plan) รวมทั้งการออกกฎหมายใหม่เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว คือ พ.ร.บ. งาช้าง พ.ศ.2558 กฎหมายงาช้างนี้ วัตถุประสงค์หลัก เพื่อควบคุมงาช้าง “ที่ได้จากช้างบ้าน” คือต้องได้จากช้างที่มีทะเบียนตั๋วรูปพรรณเท่านั้น ถ้าไม่ใช่ก็ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้นะครับ ย้ำ! คือถ้าไม่ใช่ ก็กลับไปใช้กฎหมายสัตว์ป่านะครับ” พ.ต.อ.ธีรุตม์เทวัญ กล่าว

 

 


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img