เหตุการณ์กราดยิงกลางเมืองโคราชเมื่อวันเสาร์ที่ 8 ต่อเนื่องวันอาทิตย์ที่ 9 ก.พ. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 27 ศพ และบาดเจ็บ 57 ราย (ตัวเลขเมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 9) นอกจาก จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา จะเป็นคนร้ายที่ก่อเหตุแล้ว สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ก็ตกเป็นเป้าถูกด่าหาว่าเป็นผู้ร้ายเช่นกัน โดยประเด็นที่ถูกโจมตีคือการไลฟ์สดจนทำให้คนร้ายรู้ทันเจ้าหน้าที่ ทั้งเรื่องการเรียกสไนเปอร์มาปฏิบัติการ การใช้วงจรปิดและโดรนเพื่อส่องความเคลื่อนไหวโจร ฯลฯ รวมถึงการรายงานการส่งชุดปฏิบัติการเข้าพื้นที่ห้าง นำมาซึ่งความสูญเสียของเจ้าหน้าที่!?!
คำถามคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการทำงานของสื่อ ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเป็นเหยื่อ เช่นนั้นหรือ!?!
เราจะสามารถถอดบทเรียนอะไรจากเหตุสลดที่เกิดขึ้นได้บ้าง?
แน่นอนว่าการทำหน้าที่ของสื่ออาจจะทำให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ยุ่งยากขึ้น หรือมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่การที่โทษสื่ออย่างเดียวโดยไม่ได้มองให้รอบด้าน มันอาจจะทำให้ปัญหาที่แท้จริงยังถูกซุกเอาไว้ใต้พรมก็ได้
กรณีที่โคราช เห็นโทษสื่อกันอย่างเดียวโดยแทบไม่มีการตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่รัฐเลย แม้แต่สื่อเองก็กล่าวโทษกันไปมา
ถามว่าไอ้จ่าคลั่งนี่ไม่รู้เหรอว่ารัฐจะส่งสไนเปอร์เข้าไป? เรื่องกล้องวงจรปิดนี่ก็อีก ไม่ต้องทหารที่ได้รับการฝึกมา ใครก็รู้ว่าห้างทุกแห่งมีวงจรปิด คิดว่าโจรมันไม่รู้เหรอ ต้องรอให้สื่อบอกก่อนถึงจะไปจัดการเหรอ!! เรื่องโดรนนี่โจรอาจรู้จากสื่อจริง หรืออาจจะเป็นเพราะเสียงเครื่องที่มันดังพอสมควรก็ได้ อันนี้ละไว้ เพราะไม่รู้ แต่มันคือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความสูญเสียใช่ไหม?
ส่วนการเคลื่อนย้ายกำลังเข้าห้าง โจรมันรู้จากสื่อจริง ๆ เหรอ!?! มันเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วหรือไม่ที่จะช้าหรือเร็วเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือจะต้องเข้าไปจัดการมัน แต่จะเข้าไปจุดไหน ยังไง ถามว่าสื่อมันรายงานได้หรือ มันถ่ายให้เห็นเหรอว่าเข้าไปตรงไหน โจรมันไม่ได้รอตั้งรับอยู่แล้วเหรอ มันมีทั้งตัวประกัน มีทั้งอาวุธสงคราม แถมมันรู้ยุทธวิธี เจ้าหน้าที่แม้มีจำนวนมากกว่า มีอาวุธพร้อมกว่า แต่เสียเปรียบเรื่องคนร้ายมีตัวประกัน มันก็มีโอกาสที่จะพลาดได้ แต่มาโทษสื่อ เออถ้าสื่อถ่ายให้เห็นจุดที่ จนท.ประจำอยู่ เห็นการเคลื่อนตัวของ จนท.ทำให้คนร้ายได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี อันนี้ด่าได้เต็มปาก แต่ถ้ารายงานกว้าง ๆ ในสิ่งที่ต่อให้ไม่รายงานชาวบ้านยังเดาได้เลย แล้วมาโทษสื่อ นี่คือการปัดความรับผิดชอบไหม?
คำถามที่สังคมน่าจะตั้งคือ คนร้ายคนเดียว บุกเข้าไปคลังอาวุธยิงคนเฝ้าที่มีอยู่คนเดียว แล้วขนเอาอาวุธสงครามเอาระเบิดและกระสุนออกมาได้ตั้งมากมาย เป็นไปได้ยังไง? ทำไมพี่ให้ทหารคนเดียวเฝ้าคลังอาวุธ!?!
รถฮัมวี่ กุญแจมันเสียบคาไว้เหรอ ทำไมขับออกมาง่ายจัง?
คลังอาวุธทั่วประเทศมีกี่แห่ง มีการรักษาความปลอดภัยดีแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมาอีก?
เช่นเดียวการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวานทั้ง ผบ.ตร. ผบ.ทบ. และเจ้าหน้าที่ระดับสูงสารพัดเข้าไปในพื้นที่ พี่ ๆ ตั้งกองบัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉินกันไหม มีใครเป็นผบ.เหตุการณ์ แล้วพี่เตรียมพื้นที่รองรับคนจำนวนมากเอาไว้ไหม?
ปกติเหตุการณ์แบบนี้ถ้าเกิดขึ้นในประเทศที่มีความพร้อม พอเอาคนออกมา เขาไม่ปล่อยให้กลับบ้านใครบ้านมันนะ เขาต้องเชิญตัวมาซักถาม มาสอบมาทำประวัติไว้ เพราะ 1.อาจจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคดี 2.รู้ได้ไงว่าที่ออกมาจะไม่ใช่พวกเดียวกับคนร้าย 3.กรณีที่คนเหล่านี้เหล่านี้ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือเยียวยา โดยอาศัยประวัติที่บันทึกไว้นั่นแหละเป็นฐานข้อมูล
เหตุการณ์นี้สถานที่ใกล้เคียงที่น่าจะพอใช้ได้ คือ บิ๊กซี
เหล่านี้พี่ ๆ ผู้รับผิดชอบได้ทำไหม อันนี้สังคมและสื่อควรช่วยกันตั้งคำถาม นอกเหนือจากการมาชี้นิ้วโทษสื่ออย่างเดียวโดยที่ไม่ถามหาความรับผิดชอบจากภาครัฐ เพื่อที่ภาครัฐจะได้เห็นปัญหา จะได้ปรับปรุงการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินให้ดียิ่งขึ้น
ไหนจะคำถามว่าแล้วการสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งกับเจ้าหน้าที่ และประชาชนที่เป็นตัวประกัน อย่างน้อย 2 ศพที่เสียชีวิตอยู่ใกล้กับคนร้าย มันมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ จากการรายงานของสื่อ หรือจากการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดของผู้เกี่ยวข้อง หรือเพราะอะไรกันแน่!?!
เดี๋ยวจะหาว่าเข้าข้างสื่อด้วยกัน กรณีนี้ขอเรียกร้องให้ตำรวจตั้งคณะพนักงานสอบสวน โดยประเด็นหนึ่งขอให้สอบสวนเรื่องการทำงานของสื่อด้วย
โดยเฉพาะข้อกล่าวหาว่าสื่อรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทหารทำให้เกิดความสูญเสีย ถ้ามีพยานหลักฐานก็ขอให้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับสื่อรายดังกล่าว ให้ศาลท่านตัดสินออกมาเพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานเป็นแนวทางปฏิบัติให้กับสื่อทั่วประเทศ จะได้รู้ชัด ๆ ว่าการรายงานข่าวในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในสภาวะวิกฤติ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ทั้งสื่อและทั้งคนเสพสื่อ รวมทั้งสังคมไทยจะได้มีหลักและจะได้ยกระดับตัวเองเสียที!!!