นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุเนื้อหาว่า
เพราะกลวง…จึงต้อง Propagada
ความเหนียวแน่นที่พลังประชารัฐไม่มี
ลำดับความสำคัญที่ประชาชนใช้ในการพิจารณาในการเลือกตั้งทั่วไป
1. พรรคอะไร ?
2. หัวหน้าพรรคเป็นใคร ?
3. นโยบายพรรคเป็นอย่างไร ?
4. ผู้สมัคร ส.ส. เป็นใคร ?
ผู้สมัคร ส.ส. ในเขตพื้นที่จึงเป็นความสำคัญลำดับสุดท้ายที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะนำมาพิจารณา
ระยะเวลา 10 กว่าปี ของวิกฤตการเมืองมีการเลือกตั้ง 3 ครั้ง โมฆะ 1 ครั้ง พรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ได้สร้างความยึดเหนี่ยวระหว่างมวลชนกับพรรคไว้อย่างเหนียวแน่น
การเลือกตั้งปี 2550
ประชาธิปัตย์ได้คะแนนพรรค 12.1 ล้านคะแนน
พลังประชาชน(เพื่อไทย)ได้คะแนนพรรค 12.3 ล้านคะแนน
การเลือกตั้งปี 2554
ประชาธิปัตย์ได้คะแนนพรรค 11.4 ล้านคะแนน
เพื่อไทยได้คะแนนพรรค 15.7 ล้านคะแนน
จะเห็นได้ว่า มีมวลชนที่เหนียวแน่นอยู่กับพรรคทั้งสองมากกว่า 10 ล้านคนในแต่ละพรรค
ความเหนียวแน่นของมวลชนมาจากการร่วมสู้ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข
พลังประชารัฐไม่มีสิ่งนี้
เมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงของพลังประชารัฐ
(1)พลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่พึ่งก่อตั้ง และถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ สนับสนุนเผด็จการ
(2)หัวหน้าพรรคเป็นคนที่ไม่มีอะไรโดดเด่น ถูกมองว่าเป็นลูกทีมของรองนายกฯสมคิด และยังถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตปล่อยกู้เงินของธนาคารกรุงไทยให้กับกฤษดามหานคร
(3)นโยบายพรรคไม่มีอะไรได้เพียงอาศัยผลงานของรัฐบาล คสช. มาอ้าง ซึ่งประชาชนทั่วไปทราบดีว่า บริหารประเทศล้มเหลว ความฝืดเคือง ความยากจนขยายไปทั่วประเทศ
(4) ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเป็นอดีต ส.ส. ปี 2554 จำนวน 60 คน อดีต ส.ส. ปี 2550 หรือไกลไปกว่านั้น จำนวน 20 คน ซึ่งโอกาสจะได้รับการเลือกตั้งอีก เป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องฝ่าด่านข้อกล่าวหาเรื่อง “ขายตัว” “ทรยศ” และ “สนับสนุนเผด็จการ” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่แก้ตัวยากหรือแทบแก้ตัวไม่ได้เลย
“ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กินข้าวไม่ได้กินหญ้า”
สภาพพลังประชารัฐจึงกลวง ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง
แนวโน้มการเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทุกคะแนนมีความหมาย
(1)ประชาธิปัตย์จะรักษาฐานมวลชนเดิมไว้ได้ เหตุเพราะปฏิบัติการของพรรคเครือข่ายเผด็จการอย่างพรรคลุงกำนันที่จะดึงคะแนนออกจากประชาธิปัตย์ “ล้มเหลว” และมีแนวโน้มสูงที่ประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการเลือกตั้งปี 62 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งใหม่ เพิ่มอีก 6 ล้านกว่าคน (คนรุ่นใหม่) ซึ่งมีเพียงสองพรรคที่จะเข้ามาแย่งคะแนนจากคนกลุ่มนี้ คือ ประชาธิปัตย์ กับ อนาคตใหม่ จึงต้องวัดประสิทธิภาพกันระหว่าง NEW DEM กับ อนาคตใหม่ ว่าใครจะจูงใจคนกลุ่มนี้ได้มากกว่ากัน ส่วนพรรคอื่นๆจะได้คะแนนจากคนกลุ่มนี้ลดหลั่นกันไป แต่คนรุ่นใหม่ ร้อยทั้งร้อย ไม่เอาเผด็จการ โอกาสของพลังประชารัฐจะได้คะแนนจากคนกลุ่มนี้จึงน้อยมากๆ
(2) เพื่อไทยคะแนนพรรคจะถูกแบ่งไปพรรคเพื่อชาติ และพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเมื่อดูจากฐานมวลชนที่เหนียวแน่น เชื่อแน่ว่า พรรคเพื่อชาติจะได้คะแนนมากกว่าพรรคไทยรักษาชาติหลายเท่าตัว เพราะมีฐานมวลชนที่ชัดเจนแน่นอนกว่า พรรคเพื่อชาติมีทั้ง AIR WAR และทหารราบ (คนเสื้อแดง) ที่จะเข้าไปช่วงชิงคะแนนในพื้นที่ ส่วนพรรคไทยรักษาชาติมีแต่ AIR WAR ไม่มีกองทหารราบเข้าไปจัดการเก็บคะแนนในพื้นที่ ส่วนเพื่อไทยนั้นจะสู้ ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งเป็นหลัก เพราะมีต้นทุนยืนพื้นอยู่แล้ว 200 กว่าเขตเลือกตั้ง
(3)พลังประชารัฐจะได้คะแนนจากข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร เป็นหลัก ส่วนคะแนนที่จะเสริมเข้ามา จะเป็นคะแนนนิยมส่วนตัวของผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค และคะแนนจากผู้ถือบัตรคนจนบางส่วน การจัดการคะแนนของพลังประชารัฐเป็นระบบจัดตั้ง พรรคที่จะได้รับผลกระทบจากการหาคะแนนรูปแบบนี้มากที่สุดคือ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา คะแนนของพลังประชารัฐก็จะดึงมาจากพรรคดังกล่าวข้างต้น ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะได้รับผลกระทบบ้างแต่ไม่มากนัก
ดังนั้นที่มีนักวิชาการเครือข่ายเผด็จการออกมา PROPAGANDA โฆษณาชวนเชื่อแบบล้างสมอง โดยใช้โพลชี้นำนั้น จึงขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่ได้สะท้อนสภาพที่แท้จริงของพรรคการเมือง โครงสร้างทางการเมือง และความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชน