ป.ป.ส. ประชุมเข้ม ศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดฯ ครั้งที่ 4/2567

107

ป.ป.ส. ประชุมเข้ม ศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดฯ ครั้งที่ 4/2567 เผยผลงานเกินเป้าหมายกว่า 70% ย้ำความพึงพอใจของประชาชนคือที่สุด

วันที่ 2 กรกฎาคม 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) มอบหมายนายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานการประชุม ศปก.ครส. ครั้งที่ 4/2567
ณ ห้องประชุมชิดชัย วรรณสถิตย์ สำนักงาน ป.ป.ส.

โดยมีนาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ พลเอก สุนัย ประภูชะเนย์และพันตำรวจเอก ดุษฎี อารยวุฒิ เข้าร่วมในฐานะที่ปรึกษา และคณะกรรมการฯ อาทิ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท. คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด นายณัฐวัสส์ วิริยานภาภรณ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจาก 25 จังหวัด ในพื้นที่เร่งด่วน เข้าร่วมการประชุมพร้อมหน่วยงานภาคี ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ เพื่อเร่งรัดแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่ 25 จังหวัด ให้บรรลุเป้าหมายภายใน 90 วัน

นายมานะ ประธานการประชุมฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อรับฟังปัญหาและให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ โดยเยี่ยมชมโครงการต้นแบบการบูรณาการจัดการปัญหายาเสพติดใน 2 จังหวัด ได้แก่ โครงการท่าวังผาโมเดล จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นโครงการที่ครอบคลุมในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การปราบปราม การฟื้นฟูและการบำบัด รวมถึงการนำผู้เสพกลับมาฟื้นฟูคืนสู่สังคม ให้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมและพร้อมจะนำไปขยายผลสำเร็จเพื่อใช้ในพื้นที่อื่นต่อไป และโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตำบลอุ่มเม้า อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด โดยจังหวัดร้อยเอ็ดถือเป็นหนึ่งใน 25 จังหวัดนำร่องของแผนปฏิบัติการฯ ได้ประกาศเป้าหมายว่าภายในเดือนกันยายนปีนี้ จะเป็นจังหวัดสีขาว ปลอดยาเสพติด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาครอบครัวผู้ติดยาเสพติดในจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากมีรายงานตัวเลขของยาเสพติดและผู้ติดยาเสพติดสูง จึงได้สั่งการทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ กระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ช่วยกันดูแล ให้ตัวเลขผู้ที่เคยเสพยาเสพติด ไม่กลับไปเสพ กลายเป็น 100%

ที่ประชุมได้มีการรายงานผลปฏิบัติการฯ ใน 25 จังหวัดนำร่อง ห้วง 1- 30 มิ.ย. 67 ซึ่งมีเกณฑ์บรรลุเป้าหมายในแต่ละด้าน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32.61 โดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้

1.ด้านการปราบปราม ได้แก่ ข้อหาความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ดำเนินการแล้วร้อยละ 58.92 ข้อหาสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ ดำเนินการแล้วร้อยละ 53.52 การตรวจสอบทรัพย์สิน ดำเนินการแล้วร้อยละ 74.74% ดำเนินการต่อเครือข่ายการค้ายาเสพติดรายสำคัญแล้ว 102 เครือข่าย จากเป้าหมาย 233 เครือข่าย และดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จำนวน 35 คน จากการร้องเรียน จำนวน 50 คน

2. ด้านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ได้แก่ นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้ว ร้อยละ 64.46 นำผู้เสพที่มีอาการทางจิตเข้าสู่กระบวนการบำบัดแล้ว ร้อยละ 64.52 และมีจำนวนผู้ป่วยสะสมเข้ารับการบำบัดใน CBTx ชุมชนล้อมรักษ์ จำนวน 14,535 คน โดยมีจำนวนอำเภอที่ดำเนินการ CBTx แล้วอย่างเป็นรูปธรรมคิดเป็น ร้อยละ 80

นอกจากนี้ผลการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม จัดตั้งได้ ร้อยละ 79.52 และการช่วยเหลือของศูนย์ฯ ดำเนินการแล้ว ร้อยละ 41.6 ผลการดำเนินงานโครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนฯ มีผู้เข้าร่วมบำบัดกับโครงการ จำนวน 2,699 คน ผลการนำผู้เสพในระบบคุมประพฤติเข้าสู่กระบวนการบำบัด ดำเนินการได้ ร้อยละ 92.18 3. ด้านการป้องกัน ได้แก่ การจัดระเบียบสังคม (สถานบันเทิง/สถานบริการ) ดำเนินการแล้ว ร้อยละ 85.29 การเสริมสร้างการมี
ส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชน ดำเนินการแล้ว ร้อยละ 75.86

นายมานะฯ ในฐานะประธานการประชุม ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ซึ่งผลการดำเนินงานในภาพรวมถือว่าเกินเป้าหมาย แต่สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ ความพึงพอใจและความเห็นของประชาชน โดยความพึงพอใจของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดผลความสำเร็จของการดำเนินงานในการแก้ไขยาเสพติดของภาครัฐอย่างแท้จริง”

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ป.ป.ส.