ม.มหิดล – จุฬาฯ จับมือด้านความยั่งยืน
เตรียมสร้างคน GEN S พร้อมเปิดตัว “วิชาแห่งอนาคต” ปลดล็อกการเรียนข้ามสถาบัน
ม.มหิดล – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศความร่วมมือด้านความยั่งยืน นับเป็นความร่วมมือครั้งแรกของ 2 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ตั้งเป้าสร้างทักษะจำเป็นในอนาคต Transferable Skills ให้คน GEN S พร้อมปลดล็อกการเรียนข้ามสถาบัน ผ่านวิชาแห่งอนาคตและกิจกรรมปลุกพลังนักศึกษาเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
(วันที่ 25 ธันวาคม 2567) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ วิจัย นวัตกรรม และกิจกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีคณะผู้บริหารของทั้ง 2 สถาบันร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามฯ ณ ห้อง The Meeting Room ชั้น 5 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านโซเชียลมีเดีย ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน ยังมีความเปลี่ยนแปลงในภาคสังคม เป็นความท้าทายของภาพรวมของระบบการศึกษา ในระดับโลกที่จะต้องปรับตัวก้าวตามให้ทัน
ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ วิจัย นวัตกรรม และกิจกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืนครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกของความร่วมมือของทั้ง 2 สถาบัน โดยมีเป้าหมายในการผลิตคนที่มีคุณสมบัติตอบโจทย์โลกยุคใหม่ โดยเฉพาะทักษะจำเป็นในอนาคต หรือที่เรียกว่า Transferable Skills ที่เป็นแนวทางการจัดการศึกษาในโลกยุคใหม่ มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและฝึกฝน Soft Skill ที่จะทำให้เขาอยู่รอดได้ในโลกอนาคต ตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัยและกิจกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืนอื่นๆ ที่จะช่วยสานพลังในการสร้างผลกระทบเชิงบวกและความยั่งยืนให้กับประเทศได้
“การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญระดับที่จะได้ผนึกกำลังความแข็งแกร่งของทั้ง 2 สถาบัน และเป็นความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยมหิดลภายใต้ภารกิจการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่เป้าหมายใหม่ที่มองมากกว่าการสร้าง Academic Impact และไปให้การสร้างผลกระทบเชิงบวกในระดับโลก Real World Impact ผ่านวิจัย Synergy Research และการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ผู้เรียนและสังคม”ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตรกล่าว
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นผู้บุกเบิกในการจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนและสังคม Gen S (Generation Sustainability) หรือคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทยขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดนโยบายระดับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการจัดตั้ง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาทั่วไป และการพัฒนาทักษะข้ามสายงานในสถาบันอุดมศึกษา (Center of Excellence for General Education and Transferable Skills) ซึ่งเมื่อมีการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น นำเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มเข้ามาเสริม ช่วยให้ “ปลดล็อก” เงื่อนไขที่เคยเป็นอุปสรรคในการเรียนข้ามสถาบันได้ และความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้จะเป็นทั้งก้าวแรกและเป็นตัวแบบในการขับเคลื่อนงานเรื่องนี้ในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรเนติ สุขสมบูรณ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการหารือกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเริ่มทดลองนำร่องการเรียนข้ามสถาบันโดยประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเรียนรายวิชา 0299001 DIG DATA AI การรู้เท่าทันดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ ในโครงการ CHULA MOOC Flexi ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนำนักศึกษาไปเข้าร่วมกิจกรรม CUVIP หัวข้อ “Design Revolution : เทคนิคการใช้ Canva Pro (Glow Up 2024) และ Magic AI อย่างมืออาชีพ” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเก็บเป็นชั่วโมงกิจกรรมสัมมนาในรายวิชาดังกล่าว ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาและมีเสียงตอบรับดีมาก ในภาคการศึกษาที่ 2/2567 จึงได้ขยายผลไปสู่รายวิชาอื่น ๆ และเปิดรายวิชา GE PLUS ของทางมหาวิทยาลัยมหิดล ให้นิสิตจุฬาฯ มาลงทะเบียนเรียนด้วย
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิล จัดรายวิชานำร่อง จำนวน 5 รายวิชา ได้แก่ รายวิชาการตัดสินใจโดยใช้หลักสถิติ รายวิชาท้องฟ้าและดวงดาว ของคณะวิทยาศาสตร์ รายวิชาพุทธมณฑลศึกษา ของคณะศิลปศาสตร์ รายวิชาสมุนไพรในชีวิตประจำวัน ของคณะเภสัชศาสตร์ รายวิชาผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ ของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้แบบบูรณาการชีวิต โดยมุ่งเน้นถึงการเรียนรู้จากชีวิตจริง จากสิ่งที่อยู่รอบตัว ไปพร้อมกับการสร้าง Experience Learning ดังนั้น แต่ละรายวิชาจะมีการทำกิจกรรม Workshop ในห้องจากผู้สอน มีการทำโครงการร่วมกับชุมชน เรียนรู้บริบททางสังคม เรียนรู้สังคม วิเคราะห์ปัญหา และกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น รายวิชาผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความร่วมมือกับภาคเอกชนในการทดลองเปิดร้านขายของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการวางแผนการตลาด สามารถทำงานเป็น เพราะเชื่อว่านักศึกษามีโอกาสผิดพลาดในรั้วมหาวิทยาลัยได้แต่เมื่อได้ประสบการณ์สิ่งเหล่านี้จะคอยบ่มเพาะให้มีองค์ความรู้พร้อมใช้งาน เพื่อมุ่งสู่ปลายทางที่จะตอบว่าเราเรียนไปทำอะไร กำลังส่งต่ออะไรให้กับใคร และจะสร้างประโยชน์จากการเรียนรู้อย่างไร
รองศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มเติมในส่วนของกิจกรรมนิสิต นักศึกษา จะร่วมมือกันทำในโครงการ: “ร่วมมือ ร่วมใจ สร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน” (Collaborative Sustainability Project between Chulalongkorn University and Mahidol University) โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ส่งเสริมความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการทำงานตามกรอบของ SDGs โดยใช้ประโยชน์จากความรู้และทักษะของนักศึกษาในสองสถาบัน โดยเราหวังว่าโครงการนี้จะพัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันในด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน และแก้ไขปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ
ในระยะแรกของโครงการนี้ จะให้นิสิต และนักศึกษา ของทั้งสองสถาบันแสดงผลงานของตนเองในอดีตที่ผ่านมา ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสัมมนา การจัดเวิร์กชอป บูธประชาสัมพันธ์ หรือการแสดงในรูปแบบต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้งสองสถาบัน โดยจะใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของสยามสแควร์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ในการจัดงานดังกล่าว โดยสาเหตุที่ใช้พื้นที่สยามสแควร์ก็เพื่อแสดงให้สาธารณชนรับรู้ถึงความตั้งใจจริงของทั้งสองสถาบันในการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นการจุดประกายให้นิสิตนักศึกษา มาทำงานร่วมกัน นำพลังและความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมเกี่ยวกับความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน