ตอกย้ำสนิท สกัดกรรมการมส.ไม่พึงประสงค์ จากปัญหาความหย่อนยานในการบริหารงานคณะสงฆ์โดย “มหาเถรสมาคม” องค์กรปกครองสงฆ์สูงสุดที่เกิดขึ้นมาแล้วหลากหลายกรณี โดยเฉพาะในช่วง 12-13 ปีที่ผ่านมา ซึ่งระหว่างนั้น สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) มีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถเสด็จเป็นประธานประชุมมหาเถรสมาคม จึงทำให้เกิดมีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชขึ้นมา (ส่อไม่ชอบมาพากล) สร้างความโกลาหนวุ่นวายขึ้นในสังฆมณฑล จนกระทั่งท้ายที่สุดรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) สมัยนั้นก็แก้ปัญหาโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาขึ้นมารองรับการแต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และให้มีประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมมหาเถรสมาคม
นับแต่นั้นมา ความเสื่อมถอยขององค์กรบริหารสูงสุดของคณะสงฆ์ก็เริ่มขยายความชัดเจนให้สังคมได้รับรู้มากขึ้นๆ สิ่งที่ชี้ชัดเจนที่สุดก็คงไม่พ้น การสั่งปลดกรรมการมหาเถรสมาคมรูปหนึ่งทั้งที่ยังไม่มีความผิดชัดเจนทั้งด้านพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมือง และนอกจากจะสั่งปลดจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมแล้ว ยังได้สั่งปลดและบีบคั้นให้สละทุกๆ ตำแหน่งอีกด้วย ขณะเดียวกันก็แต่งตั้งพระคู่กรณีวัดเดียวกันให้ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม ทั้งที่ขาดจริยวัตร คุณวุฒิ พรรษากาล และวุฒิภาวะ โดยไม่แคร์ต่อสายตาชาวพุทธแม้แต่น้อย
แถมยังประเคนให้อีกทุกตำแหน่งของพระรูปนั้นให้กับพระรูปนี้ !!
เรื่องของกรรม ผลลัพธ์ก็คือ ต้องเสวยกรรมสถิต ณ เรือนจำพิเศษ
ความหย่อนยานด้านการปกครองคณะสงฆ์ใช่ว่าจะเฉพาะแต่องค์กรบริหารระดับสูงเท่านั้น เชื้อร้ายนี้ยังแพร่กระจายไปสู่การปกครองระดับตำบล อำเภอจังหวัด และยังลุกลามไปถึงระดับภาค จนยากต่อการเยียวยาแก้ไขให้ฟื้นคืนสภาพ ความเสื่อมศรัทธาที่เกิดแก่สถาบันสงฆ์จะด้วยเหตุและปัจจัยอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่ก็อาจเชื่อได้ว่าเพราะเหตุนี้จึงทำให้ต้องมีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาให้ฟื้นคืนศรัทธาสู่พุทธศาสนิกชนอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 หนังสือพิมพ์และข่าวทางเว็บไซต์ต่างๆ พาดหัวตัวโตว่า “สนช.มีมติเอกฉันท์ 271 เสียง ประกาศใช้ร่าง กม.คณะสงฆ์” มีรายงานข่าวว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ประกาศใช้เป็นกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยพิจารณา 3 วาระรวด ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ มาตรา 3 ที่บัญญัติว่า เพื่อให้การอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ตลอดจนการดูแลการปกครองคณะสงฆ์เป็นไปเพื่อส่งเสริมการเผยแผ่หลักของพระพุทธศาสนาให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และมีการรักษาพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงามโดยเคร่งครัด เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป พระมหากษัตริย์คงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์
และแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)
เนื้อหาของข่าวระบุว่า องค์ประกอบของมหาเถรสมาคมตามพ.ร.บ.นี้ ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 20 รูป ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ หรือพระภิกษุซึ่งมีพรรษาอันสมควรและจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่เหมาะสมแก่การปกครองสงฆ์ โดยการแต่งตั้งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ทรงปรึกษาหารือกับสมเด็จพระสังฆราชก่อนก็ได้
สำหรับกรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และอาจจะได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้ ส่วนการพ้นจากตำแหน่งนั้นนอกจากพ้นจากตำแหน่งตามวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อมรณภาพ พ้นจากความเป็นพระภิกษุ ลาออก พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการให้ออก
ในมาตรา 10 แห่งพ.ร.บ.นี้ ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เป็นมาตรา 20/2 แห่งพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 “มาตรา 20/2 การแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าคณะใหญ่และเจ้าคณะภาค หากมีพระราชดำริเป็นประการใด ให้ดำเนินการไปตามพระราชดำรินั้น”
วรรคสอง เขียนว่า “สำหรับการแต่งตั้งและถอดถอนพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งปกครองสงฆ์ตำแหน่งอื่น ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่จะมีพระราชดำริเป็นประการอื่น”
มาตรา 11 ให้กรรมการมหาเถรสมาคมซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัตินี้
เป็นอันว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับใหม่นี้มีทั้งหมด 11 มาตรา โดยนับแต่นี้ทั้งตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ เจ้าคณะภาค รวมถึงเจ้าคณะปกครองตำแหน่งอื่นๆ จะต้องอยู่ภายใต้พระราชอัธยาศัยของพระมหากษัตริย์ที่มีมาแต่โบราณกาล เชื่อว่า การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาหรือการปฏิรูปวงการคณะสงฆ์คราวนี้จะทำให้พระเจ้าคณะปกครองทั้งหลายได้ดำรงตนด้วยสีลาจารวัตรที่งดงาม มีความมั่นคงในพระธรรมวินัยมากยิ่งขึ้น
ส่วนท้ายของ พ.บ.ร.คณะสงฆ์ฉบับใหม่นี้ มีบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญไว้ด้วยว่า “3.1 ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีความจำเป็นจะต้องตราขึ้นเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ประกอบกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ไม่เหมาะสมแก่กาลสมัย อีกทั้งกรรมการมหาเถรสมาคมผู้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะมักเป็นผู้เจริญพรรษายุกาล ทำให้มีปัญหาเรื่องสุขภาพเนื่องจากชราภาพ บางครั้งจึงมีความจำเป็นต้องลาการประชุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
นอกจากนั้น กรรมการบางรูปในขณะนี้ต้องคดีอาญาหรือมีข้อกล่าวหาจนต้องพ้นจากตำแหน่ง จึงไม่ตั้งอยู่ในที่ศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน สมควรมีการปรับปรุงแก้ไขที่มาและองค์ประกอบของมหาเถรสมาคมเพื่อให้ได้ผู้มีพรรษาอันสมควรและมีจริยวัตรในพระธรรมวินัยที่งดงาม เหมาะสมแก่การปกครองคณะสงฆ์มาเป็นกรรมการในมหาเถรสมาคม”