หน้าแรกบทความรายงานพิเศษการเมือง: เสวนา 86ปี"ปชต.ไทยก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน"

รายงานพิเศษการเมือง: เสวนา 86ปี”ปชต.ไทยก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน”

ในห้วงแห่งกระแสการเมืองที่กำลังร้อนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะเรื่องของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งจากพรรคการเมืองต่าง ๆทั้งป้ายดำและป้ายแดง
ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหว ม่ว่าจะเป็นการดูดตัวอดีตส.ส.เข้าร่วมพรรค ตลิอดจนการเตรียมตัวของพรรคการเมืองหน้าเก่า รวมถึงการเปิดตัวพรรคหน้าใหม่ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อ”พรรคการเมืองเก่า”กับ”พรรคการเมืองใหม่”

โพลชี้”อนาคตใหม่”พรรคใหม่อันดับหนึ่ง
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทั่วประเทศ จำนวน1,105 คน ระหว่างวันที่ 19-23 มิ.ย.ที่ผ่านมา
โดย”3 อันดับพรรคการเมืองใหม่” ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ณ เวลานี้ อันดับ 1 คือ พรรคอนาคตใหม่ 57.51% อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ 24.35% และอันดับ 3 พรรคพลังชาติไทย 18.14%
ขณะที่”3 อันดับพรรคการเมืองเก่า”ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน พรรคเพื่อไทย มาเป็นอันดับที่หนึ่ง 55.59% อันดับ 2 พรรคประชาธิปัตย์ 39.89% และอันดับ 3 พรรคภูมิใจไทย 4.52%
ส่วน”5 อันดับทั้งพรรคการเมืองเก่า-ใหม่”ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย 55.02% ที่ชื่นชอบพรรคเป็นพรรคใหญ่ อยากให้เข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประชาชน มีนักการเมืองเก่ง มีชื่อเสียง
อันดับ 2 พรรคอนาคตใหม่ 34.18% เพราะเป็นพรรคใหม่ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน มีนโยบายน่าสนใจ อยากเปิดโอกาสให้เข้ามาทำงาน
อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ 33.88% เป็นพรรคเก่าแก่ ก่อตั้งมานาน มีประสบการณ์ ชื่นชอบการทำงาน มีผู้สมัครที่น่าสนใจ เลือกพรรคนี้มาโดยตลอด
อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ17.39% เพราะมีกระแสต่อเนื่อง เกี่ยวข้องกับรัฐบาลปัจจุบัน เป็นพรรคใหม่ มีนักการเมืองเข้ามาร่วมหลากหลาย
อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย 12.59% ชอบการบริหารงานที่ผ่านมา เป็นพรรคเล็กที่มีบทบาทสำคัญ อยากรู้ความเคลื่อนไหว
ส่วนประเด็นว่า ผู้สมัคร ส.ส.ที่สังกัด “พรรคการเมืองเก่า” กับ “พรรคการเมืองใหม่”มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนหรือไม่
– เห็นว่ามีผล 54.33% เพราะขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน ชอบคนแต่ไม่ชอบพรรค นโยบายแต่ละพรรคแตกต่างกัน นอกจากจะดูที่ตัวบุคคลแล้วก็ดูว่าสังกัดพรรคที่ชอบด้วยหรือไม่ การเลือกสังกัดพรรคส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ
– เห็นว่าไม่มีผล 45.67% เพราะดูที่ตัวบุคคล ประวัติ ประสบการณ์ ผลงานที่ผ่านมา ชอบเป็นการส่วนตัว ไม่พิจารณาว่าสังกัดพรรคใด หากเป็นคนดีอยู่พรรคใดก็ทำงานได้
สุดท้ายในการเลือก ส.ส.ระหว่าง “ตัวผู้สมัคร” กับ “พรรคที่สังกัด” ประชาชนให้ความสำคัญอะไรมากกว่ากัน
– 41.63% ให้ความสำคัญพอๆ กัน เพราะต้องพิจารณาทั้งตัวผู้สมัครและพรรคที่สังกัดไปพร้อมๆ กัน อยากได้ทั้งผู้สมัครและพรรคที่ดีมีคุณภาพ หากพรรคมีนโยบายที่ดี ก็จะส่งผลให้ผู้สมัครทำงานได้ดี มีผลงาน
– 36.92% ให้ความสำคัญ”ตัวผู้สมัครมากกว่า” เพราะเน้นที่ตัวผู้สมัคร อยากได้คนดี ทำงานเป็น มีผลงาน มีความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ พรรคการเมืองที่ดีต้องมีผู้สมัครที่ดี ฯลฯ
– 21.45% ให้ความสำคัญ”พรรคที่สังกัดมากกว่า”เพราะพรรควางนโยบายของผู้สมัคร พรรคที่มีการบริหารที่ดีจะทำให้ผู้สมัครทำงานได้ดียิ่งขึ้น ผู้สมัครต้องปฏิบัติตามแนวทางของพรรค พรรคที่เข้มแข็งสามารถให้การสนับสนุนผู้สมัครได้เต็มที่

ปชป.จี้ปลดล็อกให้ปชช.มีส่วนร่วม
ขณะที่ในวงเสวนา”86 ปี ประชาธิปไตยไทย ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน “เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยวอยซ์ สเปซ @VOICE TV ถนนวิภาวดีรังสิต รายการ Wake Up Thailand Special โดยมีตัวแทน 10 พรรคการเมืองเข้าร่วม อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายธนาธร จึง รุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา และนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป

โดยนายอภิสิทธิ์ ระบุว่า การจะให้คะแนนประชาธิปไตย ตนพิจารณาปัจจัยสังคม 86 ปีที่ผ่านมาก้าวหน้ามาก มีความตื่นตัวในสิทธิ เสรีภาพมากขึ้น ประชาชนโหยหาความหวัง การมีส่วนร่วมกำหนดอนาคต ประชาชนได้สัมผัสคนที่ผ่านการเลือกตั้ง เขาเข้าใจดีว่า มีส่วนร่วมผลักดันประเทศได้ ผู้มีอำนาจก็เข้าใจเงื่อนไขนี้ การรัฐประหารที่ผ่านมาต้องตอบคำถามสังคมตลอดเวลาว่าจะเลือกตั้ง เมื่อไหร่ ถือว่าสังคมก้าวหน้าในประชาธิปไตย แต่คนก็ยังหวาดระแวงรัฐบาลเลือกตั้ง ที่ทุจริต ใช้อำนาจมิชอบ และปัญหาวันนี้เรา มีรัฐบาลจากการรัฐประหาร มีรัฐธรรมนูญที่มีข้อจำกัดเยอะ ตนจึงให้คะแนนประชาธิปไตยประมาณ 5 คะแนน ทั้งนี้ การจะสอบ ผ่านหรือสอบตกอยู่ที่สังคมไทยหลังการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเสรีได้หรือไม่ ทำให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งมีธรรมาภิบาล ไม่ไป ทำลายกลไกที่จะพัฒนาประชาธิปไตย ในการเข้ามาตรวจสอบ ถ้าทำได้ก็จะเดินหน้า ไม่เช่นนั้นก็สอบตก

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การจะพัฒนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืน ประเทศต้องมีทางเลือกมากกว่าเผด็จการและประชานิยม ขณะนี้ต้องปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำหน้าที่ของตัวเอง ให้ประชาชนมีส่วนร่วม พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเปิดให้สมาชิกมีส่วน
เลือกหัวหน้าพรรค ผู้บริหารพรรค หรือผู้สมัคร เมื่อพรรคทำได้แล้วการเลือกตั้งก็ต้องสุจริต เที่ยงธรรม พฤติกรรมทุจริตทุกรูปแบบ การดูดอดีตส.ส.โดยใช้เงิน ตำแหน่ง หรือคดีความต่อรอง การซื้อเสียง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนอยากให้ทุกพรรคแข่งกันสร้างความหวัง ไม่ใช่มุ่งขัดแย้ง พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันจะไม่ซื้อเสียง ไม่ทุจริต ไม่มุ่งขัดแย้ง แต่จะหาทางออกให้ประเทศ แก้ความเหลื่อมล้ำ ให้มีการ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น เมื่อเข้าสภาต้องทำให้ประชาชนศรัทธากระบวนการของพรรคต้องทำตามนโยบายที่แถลง สนับสนุนการตรวจสอบ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่อยากให้เป็นปมขัดแย้งจนประเทศเดินหน้าไม่ได้
“ประเด็นแก้รัฐธรรมนูญสรุปง่ายว่ารื้อ แต่การรื้อขอบเขตอยู่ตรงไหน เสียงข้างมากรื้อให้เสียงข้างมากไม่ถูกตรวจสอบ ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงต้องสร้างฉันทามติอะไรที่ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย คาดได้เลยว่าส.ว.ไม่เอาด้วย สังคมจะต้องกดดัน ซึ่งประชาชนต้องมั่นใจว่าไม่ใช่แก้เพื่ออำนาจหรือเพื่อตัวเอง” นายอภิสิทธิ์ ระบุ

พท.สับรธน.วางกลไกสืบทอดอำนาจ
นายจาตุรนต์ กล่าวว่าให้คะแนนประชาธิปไตย 3-4 คะแนน เพราะประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก รัฐธรรมนูญปัจจุบันรับรองการรัฐประหารไม่ผิด แม้จะวางระบบไม่ให้รัฐประหารอีก แต่ก็ได้วางระบบให้คสช.ปกครองไปอีกนาน ซึ่งอุปสรรคคือความคิดและบทบาทของชนชั้นนำไม่ยอมให้ประชาชนปกครองตนเอง ปลูกฝังความคิดว่าไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ ปลูกฝังว่าการรัฐประหารจำเป็น ให้ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จปกครองไม่เช่นนั้นจะปกคครองไม่ได้ การคุ้มครองเสรีภาพยังไม่เป็นค่า นิยมร่วมกัน และกระบวนการยุติธรรมประเทศนี้รับรองรัฐประหาร ใครยึดอำนาจสำเร็จก็มีอำนาจเหนืออำนาจตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ

ดังนั้น ไม่มีอะไรต้องสานต่อจากคสช.มีแต่จะรื้อทิ้งสร้างใหม่ให้ยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งเรื่องเฉพาะหน้าขอ ให้การเลือกตั้งเสรี เป็นธรรม คสช.ไม่แทรกแซง ส่วนรัฐธรรมนูญซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งทำประเทศเสียหาย ทำให้คสช. สืบทอดอำนาจ จึงจะแสวงความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ให้คสช.สืบทอด อำนาจได้ และถ้าคนของคสช.จะถูกพรรคการเมืองใดเสนอชื่อเป็นนายกฯ ทั้งรอบแรกและรอบสอง ไม่เอาด้วยทั้งนั้น พรรคเพื่อ ไทยยืนยันจะเป็นฝ้ายค้าน ถ้าคสช.ร่วมกันตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองต้องมีความเป็นสถาบัน ไม่ใช่องค์กรเฉพาะกิจ ขึ้นกับบุคคล ต้องมีประชาธิปไตยภายในพรรค พัฒนานโยบายเป็นทางเลือกประชาชน และต้องตระหนักเสมอว่าภารกิจสำคัญคือ สร้างประชาธิปไตย เสริมสร้างประชาชนให้มีส่วนร่วม กระจายอำนาจมากขึ้น จะคิดแต่บริหารประเทศไม่ได้

ภท.ชี้นักการเมืองใช้ ปชต.ขาดๆ เกินๆ
นายอนุทิน กล่าวว่า ตนสรุปว่าคะแนนประชาธิปไตยวันนี้ไม่ผ่าน ตั้งแต่ปี 35 เป็นต้นมา ประชาธิปไตยค่อนข้างมีบทบาทนำความ เจริญก้าวหน้าให้ประเทศ กระทั่งปี 49 ตนไม่เห็นด้วยว่า ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยแล้วรัฐประหารได้ ตรงนี้คือศูนย์ ซึ่งไม่ใช่เหตุผล แค่รัฐประหาร คนที่อยู่ในประชาธิปไตยใช้ประชาธิปไตยขาดๆ เกินๆ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ประชาธิปไตย คือสวัสดิภาพ สวัสดิการ ปากท้องประชาชน อำนาจเป็นของประชาชน จากนี้ไปขอให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ให้ผ่านเกณฑ์ก็พอให้ทุกคนยอมรับได้ จะเดินได้ไกลกว่า ดีกว่าทำอะไรที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ประชาธิปไตยจะยั่งยืนต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชนคิดถึงเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ถ้าประชาชน อยู่ดีกินดี ได้รับความเป็นธรรม อำนาจนอกระบบจะเข้ามาไม่ได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราทำตัวเอง ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง ทำให้เขา เข้ามาได้ ตอนนั้นอ่อนเดียงสาเกินไปถึงคิดถึงแต่ตัวเองเป็นใหญ่ ไม่คิดถึงประชาชน ของบางอย่างคนมีประสบการณ์ถึงตัดสินใจ อะไรได้ ตำแหน่งแห่งหนไม่ใช่เรื่องสำคัญ

“เมื่อได้อำนาจจากประชาชนก็ควรไว้ใจเขา คืนอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ทำตามใจเรา ต้องทำตามใจเขา หวังว่าการเลือกตั้ง 62 ประชาธิปไตยไทยจะสมบูรณ์ ถ้าทุกคนยอมรับกติกาส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่ต้อง ไปแก้ อะไรที่ลิดรอนสิทธิต้องแก้ไข หรือการที่มีองค์กรใดมาครอบงำรัฐบาลหลังเลือกตั้งก็ต้องแก้ แต่นักการเมืองทุจริตถูกตัด สิทธิตลอดชีวิตไม่ต้องแก้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

ชทพ.เชื่อปชต.ก้าวหน้า-ชาติพัฒนา
นายวราวุธ กล่าวว่า ถึงวันนี้ตนมั่นใจว่าประชาธิปไตยเราก้าวไปข้างหน้า โดยใน 6 เต็ม 10 คะแนน ซึ่งการที่ประเทศพัฒนาถึงวันนี้ มันต้องมีอะไรดีสักอย่าง ทุกคนกลุ่มต่างมีบทเรียนราคาแพง บอมช้ำผ่านความสูญเสีย จากนี้สังคมไทยจะมีประชาธิปไตยเคียงข้าง ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนแค่ไหน การเลือกตั้งจะพิสูจน์ว่าสังคมเลือกอยู่กับประชาธิปไตย ท้ายสุดเชื่อว่าคนไทยยืนข้างประชาธิปไตย อย่างไรก็ต้องดีกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ 60 ถือว่ามีข้อดีและด้อยมาก การจะแก้ไขโครงสร้างต้องมาจาก หลายภาคส่วน เหมือนตอนร่างรัฐธรรมนูญ 40

ปชร.ซัดนกม.ตัวอุปสรรคปชต.
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2475 เริ่มต้นโดยคณาธิปไตย และถ้าประชาธิปไตยในนิยามต้องเลือกตั้ง 2475 ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน จึงไม่ต้องให้คะแนนประชาธิปไตย ทั้งนี้ ลำดับพัฒนาการถึงปี 57 ประชาชนจำนวนมากมองประชาธิปไตย ของไทยมีปัญหา ต้องปฏิรูป ช่วงนั้น ประชาธิปไตยถือว่าสอบตก โดยอุปสรรคคือนักการเมืองใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ ประชาธิปไตยเลยไม่ก้าวหน้า ดังนั้น ต้องทำพรรคการเมืองให้เป็นเครื่องมือของประชาชนให้มีอำนาจโดยตรงในการมีส่วนร่วม มีบทบาท ประชาธิปไตยสอบผ่านแน่นอน

“พรรคประชาชนปฏิรูปจะเข้าไปดำเนินการทุกมิติจากน้อยไปหามาก จะมีสภาประชาชนในทุกจังหวัด เพื่อต้องการสร้างประชาธิปไตยโดยประชาชน จะสร้างระบบทางตรงให้ใช้พรรคเป็นเครื่องมือ แก้ทุกอย่าง ทำให้พรรคการเมืองเป็นองค์กร สาธารณประโยชน์ และประชาธิปไตยต้องกำกับโดยหลักธรรมาธิปไตย” นายไพบูลย์ กล่าว

อนาคตใหม่ลั่นรัฐประหารต้องจบ
นายธนาธร กล่าวว่า ตนให้คะแนนประชาธิปไตย 1.97 คะแนน เพราะอุปสรรคอย่างรัฐประหารต้องจบในรุ่นของตน ไม่ส่งต่อให้ลูกหลาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลง 2475 สุดท้ายคือการเปลี่ยนแปลงรัฐไทยกับไพร่ไปเป็นพลเมือง เป็นคนที่มีสิทธิมีเสียง โดยอุปสรรคคืออภิสิทธิ์ชนไม่กี่กลุ่มที่ขัดขวาง ทำให้ประชาธิไตยไม่เคยได้รับโอกาสได้เติบโตได้ลิ้มลองการใช้อำนาจของตัวเอง ดังนั้น ถ้าไม่มีใครสานต่อประวัติศาสตร์ ที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับไพร่เป็นพลเมือง พรรคอนาคตใหม่ขอรับภารกิจนี้ไปทำต่อเอง

นอกจากนี้ แต่ละพรรคการเมืองต้องตอบให้ชัดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ 60 ทั้งฉบับหรือไม่ หรือสนับสนุนการสืบทอดอำนาจคสช.หรือไม่ อย่าให้ใครตีกินเรื่องนี้ ส่งเสียงให้ดังว่าพอแล้วไม่อยากมีอนาคตแบบนี้อีก ถ้าคำนึงถึงอำนาจสูงสุดของประชาชน ถ้าจับมือกันแน่นไม่มีทางเกิดรัฐประหารอีก และต้องร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญ ต้องล้มล้างผลรัฐประหารขอแค่ชนะครั้งเดียวจะไม่เกิดขึ้นอีก


 

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img