ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมหน้าบริเวณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ค่ำวันที่ (20 พ.ค.) และประกาศเดินหน้าชุมนุมไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงสัญญาเลือกตั้งในวันถัดมา (22 พ.ค.) ว่า ข่าวพาดหัวนี้ผมถ่ายเก็บไว้ช่วงกลางปี 2556 เป็นข่าวหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ก่อนมี กปปส. ได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านพรบ. นิรโทษกรรมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ วันนั้นแกนนำปชป.นำขบวนเดินมาร่วมประชุมสภาฯในวันที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์นำเสนอพรบ.นิรโทษกรรมเพื่อพิจารณาในวาระแรก มีด่านตำรวจสะกัดกั้นเรามากมายตลอดทาง

“อารมณ์ผมตอนนั้นคือสื่อ (และแม้แต่สังคมทั่วไป) ไม่ควรเย้ยหยันกัน ซึ่งหลังจากข่าวนี้ปรากฏไม่กี่เดือนกระแสก็จุดติด เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ประชาชนออกมาร่วม ‘ม็อบ’ ในจำนวนที่อาจจะมากที่สุดที่เคยมีบนท้องถนนไทย วันนี้เหมือนกันครับ – ไม่ว่าจะเห็นด้วยในอุดมการณ์ของผู้ประท้วงเรียกร้องการเลือกตั้งหรือไม่ (ซึ่งเขาไม่ได้เรียกร้องในสิ่งที่ผิด เพราะการอยากให้มีการเลือกตั้งไม่ผิด) ผมมองว่าเป็นสิทธิของเขาที่จะเรียกร้อง”

นายกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนสิทธิในการแสดงออกด้วยการชุมนุมเขาก็ควรจะมี เหมือนกับตอนพวกเราเคยอ้างสิทธิเดียวกันเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งวันนี้เรามีกฎหมายใหม่คือพรบ. ชุมนุมฯ เป็นตัวกำหนดกติกาการชุมนุมไม่ให้ผู้คนเดือดร้อน และกฎหมายนี้เป็นการยืนยันในสิทธิ์ที่จะแสดงออกตามเงื่อนไขของกฎหมาย ใครจะไปเยาะเย้ยใครตนไปห้ามไม่ได้ จำได้แต่ว่าในยุคที่ยังไม่มีกระแส และแนวร่วมยังมีไม่มาก ตนก็เคยออกมาชุมนุม ‘แบบกร่อยๆ’ มามากพอควร และก็ถือเป็นการแสดงออกตามอุดมการณ์ของตนในขณะนั้น

“แน่นอนครับ การชุมนุมแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน และความน่าเชื่อถือของผู้นำในแต่ละครั้งก็ต่างกัน แต่สิทธิในการแสดงออกควรจะเหมือนกันครับ” นายกรณ์ กล่าว

[fb_pe url=”https://www.facebook.com/KornChatikavanijDP/posts/10156433123074740″ bottom=”30″]