ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคณะทำงานในการแก้ปัญหาบ้านพักตุลาการ ว่า เบื้องต้นนายกฯมอบหมายเรื่องนี้ให้นายสุวพันธุ์ เพราะสมัยที่นายสุวพันธุ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็มีเรื่องร้องเรียนเหล่านี้เข้ามาด้วยเช่นกัน ไปพูดคุยหารือเพื่อหาทางออก ซึ่งเป็นการเข้าไปช่วยดูอีกแรงหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องดังกล่าวเจ้าของพื้นที่อย่างกองทัพภาคที่ 3 , กอ.รมน. ได้ดูแลอยู่ โดยนายสุวพันธุ์ลงไปในฐานะส่วนกลางจะทำให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจมีความถูกต้อง โดยนายสุวพันธุ์ต้องประสานกับผู้ชุมนุม ฝ่ายที่ดูแลสิ่งแวดล้อม แล้วเสนอนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตนยังไม่ได้คุยกับนายสุวพันธุ์ในเรื่องนี้ หากนายสุวพันธุ์เห็นว่าจะต้องหาทางออกโดยใช้กฎหมายก็คงต้องมาคุยกันอีกที
นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า วันนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าทางออกจะเป็นอย่างไร คงต้องรอให้นายสุวพันธุ์ไปพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จึงจะมีความชัดเจน แต่ส่วนตัวไม่ห่วงในเรื่องดังกล่าวแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันบ้าง แต่เชื่อว่าการชุมนุมของชาวเชียงใหม่ที่ไม่เห็นด้วยนั้นยืนอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตใจจึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง และขณะนี้ก็ไม่มีประเด็นทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างเรียบร้อย ไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ต่อไปไม่แน่ เพราะผมได้ทราบอย่างไม่เป็นทางการว่าตอนนี้ยังไม่มีการถูกชักนำไปในทางที่ไม่สงบเรียบร้อย และที่เขาชุมนุมก็ชุมนุมกันอย่างเรียบร้อย
ผู้สื่อข่าวถามว่า สุดท้ายแล้วจะจบตรงที่การใช้อำนาจหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ทราบว่าต้องใช้คำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มาตรา 44 ในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ และมองว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น และคำสั่ง คสช. จะต้องใช้ในทางสร้างสรรค์ จึงไม่ต้องใช้การในทุบตึกและรื้อบ้าน หรือทำลายทรัพย์สินทางราชการ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ก่อน เพราะส่วนตัวไม่ได้รับมอบหายโดยตรง เป็นเพียงผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่พัฒนาภาคเหนือ และเพียงได้ส่งที่ปรึกษาไปดูเท่านั้น เพื่อให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าไม่มีสัญญาณว่ามีความไม่สงบหรือการเมืองเข้ามาแทรกแซงแต่อย่างใดไม่ว่าเป็นระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำประชามติ นายวิษณุ กล่าวตอบว่า “ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ต้องตั้งเวทีและประเด็นเพื่อเข้าคูหากาบัตร จึงไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้น แต่อาจทำประชาพิจารณ์ได้ เนื่องจากเป็นการทำในวงจำกัด ส่วนกรณีที่มีเปิดเพจไทยคู่ฟ้าในแสดงความเห็นก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการพิจารณาประกอบได้ และหากมีใครทำเพจเพิ่มขึ้นเพื่อแสดงความเห็นก็ไม่มีปัญหาเพราะถือว่าเป็นช่วยกันแก้ปัญหา” นายวิษณุ กล่าว