เหี้ย..ห่า..แมร่ง ..มึง..กรู.ฯ คำผรุสวาท ที่สื่อทุกช่องใช้ทุกฟีดโซเชียลนิยม จิตสำนึกของสื่อกับเยาวชน ควรเอาอย่างหรือไม่.?
ความหยาบคายไม่เหมาะสมบนหน้าจอ ใครกันต้องรับผิดชอบ?
ยุคนี้ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ ยุคนี้ใคร ๆ ก็เป็นพิธีกร-ผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า “ใคร” ที่ว่านี้จะทำหน้าที่ได้มีมาตรฐานในการส่งสารถึงคนดูได้เหมือนกัน หรือเป็นแบบอย่างให้คนที่จะก้าวเข้ามาสู่งานในเส้นทางนี้ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง หลายต่อหลายครั้งสังคมส่งเสียงถึงสถานี ถึงเจ้าของรายการ ว่า ปล่อยให้มีคำพูด-เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม อะไรต่าง ๆ เผยแพร่ออกมาได้อย่างไร หลายกรณีนำไปสู่ดราม่า การบอยคอต การแบนรายการหรือบุคคลนั้น ๆ หลายกรณี คือ เรื่องของกาละเทศะ ด้วยความที่การควบคุมที่ไม่ทั่วถึงหรือกำกับเคร่งรัดอย่างชัดแจ้ง จน “ประชาชน” ในฐานะคนดู ต้องเป็นผู้ชี้นิ้วบอกเองว่าอะไรไม่ได้เหมาะไม่เหมาะ จนอดสงสัยไม่ได้ว่า “หน่วยงาน” ที่กำกับทำอะไรอยู่ ?
หนึ่งในคำถามสำคัญ ที่ทุก วันนี้ สิ่งที่ “ถาโถม” เข้ามามากที่สุดของการดำเนินรายการต่าง ๆ คือ “ความเหมาะสม” ท่ามกลางยุคที่รายการต่าง ๆ ต้องแข่งขันกันสุดฤทธิ์ ด้านเรตติ้ง ช่วงชิงโฆษณา มาจนถึงการตีกิน-เลี้ยงกระแส นอกจาก ตัวคอนเท้นต์ หรือเนื้อหาที่สดใหม่แตกต่างแล้ว ความถูกต้องของข้อมูล กลวิธีในการนำเสนอ รวมไปจนถึงผู้นำเสนอก็สำคัญไม่แพ้กัน ทำให้ปัจจุบัน “คำหยาบคาย” ความไม่เหมาะสม อย่างเหี้ย ..ห่า..แมร่ง ..มึง..กรู ..แมร่ง ..ฯ กลับกลายเป็นสิ่งที่เห็นจนเป็นปกติในหลายรายการ ความชาชินที่เกิดขึ้นนี้ ทั้ง ๆ ที่มันไม่น่าจะใช่เรื่องปกติ กลับมีให้เห็นจนเป็นเรื่องปกติ คำถาม คือ และใครควรควบคุมความไม่ปกติเหล่านี้ เชื่อว่า หลายท่านคงทราบคำตอบดีอยู่ในใจ สุดท้ายหลายต่อหลายกรณี คือ การหงายการ์ดประจำ ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์”
ซึ่งในอดีตกาล การที่จะก้าวมาเป็นผู้ที่อยู่บนหน้าจอหรือผู้ประกาศได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทุกคนต้องไปผ่านการทดสอบ เข้ารับการอบรม เสมือนนักบินต้องอาศัยความชำนาญ มีชั่วโมงบินมีการฝึกซ้อมที่ดีเพื่อก้าวเข้ามาสู่การทำหน้าที่ที่ต้องสื่อสารและรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คนและสังคม หลายคนต้องลงทะเบียนอบรมหลักสูตรหลายระดับ ที่มี กสทช. เข้ามาคอยกำกับควบคุมดูแล พอสอบจนผ่านได้ใบประกาศไปทำหน้าที่ เรียกได้ว่า ต้องฝ่าด่านหิน ด่านอรหันต์ เพื่อการทำหน้าที่สำคัญนี้ ที่มีทั้งเรื่องของทักษะและเรื่องทางภาษาที่เหมาะสม แต่ด้วยความที่ปัจจุบันช่องสถานีต่าง ๆ ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด จำกันไม่ได้ว่า ช่องไหนเป็นช่องไหน แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่ารายการหรือช่องนั้น ๆ จะสามารถทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แบบไร้มาตรฐานได้
วันนี้ คงยังไม่สายเกินไปที่จะต้องจัดระเบียบ การสื่อสารให้เกิดความเหมาะสมและเป็นตัวอย่างในสังคมนำไปเป็นแบบได้ สำคัญที่ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ควรทำหน้าที่ให้สมกับการกำกับดูแลตามพันธกิจที่มี ทั้งที่มีงบประมาณมหาศาลในการหากลไกมากำกับดูแลได้ เราต้องอย่าปลอยให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นความปกติจนนำไปสู่ความเป็นแบบอย่างในสังคมี่ไม่เหมาะสมได้ สิ่งสำคัญที่ควรเกิดขึ้นไม่ใช่การข่มขู่บังคับห้ามอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แต่คือการสร้างจิตสำนึกร่วมกันในสังคม
ดังเช่นตัวอย่างสำคัญ ในการแสดงออกทางการสื่อสารที่ล้มเหลว สิ้นหวัง ดังที่เกิดขึ้นใน “ภาวะผู้นำ” ของบ้านนี้เมืองนี้ ที่มีทั้งไอ้ห่า ไอบ้า สารพัดคำข่มขู่ กริยาที่ดูระเบิดลง น็อตหลุดได้ตลอดเวลา แล้วปฏิบัติกับนักข่าวสื่อมวลชนเหมือนผู้ใต้บังคับบบัญชา จนนำไปสู่ปัญหาใหม่ ๆ แทนที่วิกฤติจะถูกกอบกู้ได้โดยศรัทธา เชื่อมั่น แต่มันกลับถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงจากคนคนเดียวกันคณะเดียวกันที่ ไม่เคยมองเห็นหัวประชาชน สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ความหวังในการคาดหวังคนหน้าจอจะทำหน้าที่ได้เหมาะสมถูกต้องปกติยิ่งยาก เพราะเขาก็จะมองว่า ระดับผู้นำยังทำได้เลย!
วันนี้ จึงอยากเรียบร้องให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ได้พิสูจน์การทำหน้าที่และยืนยันสถานะขององค์กรตัวเองว่า มีบทบาท ยังมีน้ำยา ยังมีคุณค่าในสังคมไทย ไม่ใช่กลายเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นต้องมีอยู่เปลืองงบประมาณ-ภาษี เหมือนที่ประชาชนหลายคนตั้งคำถามถึงรัฐและผู้นำ ว่า ตกลงพวกเขาเหล่านี้ทำหน้าที่ได้เหมาะสมกับการถือครองอำนาจอยู่ยาวแล้วหรือยัง ถ้ายังจะได้มีคำถามใหม่ ๆ มาว่า ตกลงแล้ว เราจะมีพวกท่านไว้ทำไม ?
คำถาม คือ อย่างเช่น “กรมประชาสัมพันธ์” โดยมีหน้าที่ในการควบคุมการดำเนินการของสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย รวมถึงการเซ็นเซอร์เนื้อหาของรายการต่าง ๆ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) รวมถึงอีกหลายหน่วยงาน มันไปหายหัวไปทำอะไรกันอยู่ .?