หน้าแรกกระบวนการยุติธรรม“รองโฆษก ตร.” เตือนตำรวจ เล่นโซเชียลฯ ระวังการโพสต์ อาจจะส่งผลกระทบภาพลักษณ์องค์กร

“รองโฆษก ตร.” เตือนตำรวจ เล่นโซเชียลฯ ระวังการโพสต์ อาจจะส่งผลกระทบภาพลักษณ์องค์กร

เมื่อวันที่ 29  พฤษภาคม 2564  พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะ รอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันในยุค 5 จี พี่น้องประชาชนรวมทั้งข้าราชการตำรวจต่างก็เข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว  ที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า พี่น้องตำรวจหลายท่านรวมถึงหลายหน่วยงานใช้สื่อสังคมออนไลน์ประชาสัมพันธ์การปฏิบัติหน้าที่ในรูปแบบต่าง ๆ หรือแถลงผลการจับกุมคนร้ายในคดีสำคัญ ตลอดจนเตือนภัยอาชญากรรมในพื้นที่ให้ประชาชนได้รับรู้ในการระมัดระวังตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อ ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามยังคงพบเห็นข้าราชการตำรวจบางท่านใช้สื่อสังคมออนไลน์แล้วส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร จริง ๆ ต้องเรียนว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์ม ข้าราชการตำรวจสามารถมีสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงและใช้งานทั้งสิ้น แต่เพื่อให้การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของข้าราชการตำรวจเป็นไปอย่างเกิดประโยชน์และเป็นไปอย่างถูกต้อง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของข้าราชการตำรวจ ซึ่งเป็นเสมือนคู่มือในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ สำหรับประเภทข้อมูลข่าวสารที่ไม่ควรเผยแพร่ ทั้งในรูปแบบข้อความ รูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว มีจำนวน 9 ประเภท คือ 1.) ข้อมูลที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือ ส่งในทางลบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, 2.) ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, 3.) ข้อมูลที่มีลักษณะยั่วยุ เสียดสี บิดเบือนโฆษณา ชวนเชื่อ สร้างความแตกแยกต่อหน่วยงาน องค์กร สถาบัน สังคม รวมถึงการไม่เป็นกลางทางการเมือง, 4.) ข้อมูลความลับของทางราชการ ตามระเบียบการตำรวจที่กำหนดไว้

5.) ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทั้งของราชการและบุคคล รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายอาญาใด ๆ เช่น ภาพลามก อนาจาร เป็นต้น, 6.) ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางคดี เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรมรวมถึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงในเชิงยุทธวิธีและยุทธการ, 7.) ข้อมูลที่สร้างกระแสทางสังคมหรือก่อให้เกิดความตื่นตกใจโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่มีหลักฐานยืนยัน, 8.) ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคาม ต่อระบบสารสนเทศ และเครือข่าย ได้แก่ โปรแกรมไม่พึงประสงค์ หรือ Malware ทุกประเภท และ 9.) ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม

ส่วนกรณีการไลฟ์สดของ ส.ต.ต.ฉัตรมงคล สมแก้ว ที่มีกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงความไม่เหมาะสมนั้น  อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงของหน่วยงานต้นสังกัด  สำหรับข้อสงสัยในเรื่องการ work from home ของข้าราชการตำรวจนั้น ในส่วนข้าราชการตำรวจฝ่ายปฏิบัติการในสายงานป้องกันปราบปราม ฝ่ายสืบสวน ฝ่ายสอบสวน และฝ่ายจราจร การ work from home เป็นไปได้ยากเนื่องจากต้องออกปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อยู่โดยตลอด ซึ่งจะมีการระมัดระวังตนเองในการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ตั้งแต่การตรวจวัดอุณหภูมิก่อนปฏิบัติหน้าที่ สวมใส่หน้ากากอนามัย พกแอลกอฮอล์ในการปฏิบัติงาน ฯลฯ แต่หากเป็นข้าราชการฝ่ายอำนวยการหรือธุรการ อาจมีการพิจารณาผ่อนกำลังได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น ๆ และต้องไม่กระทบกับภารกิจของหน่วยงาน

จึงฝากถึงพี่น้องข้าราชการตำรวจ ในการเข้าถึงหรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ ควรพิจารณาใช้ด้วยความระมัดและถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและแนวทางที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img