เพราะอะไร ถึงไม่ควรประมาทกระแสย้ายประเทศ

“ไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้านเรา” เป็นคำที่ใครหลายคนได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ณ ประเทศที่มีแต่รอยยิ้ม มิตรภาพ น้ำใจของผู้คน จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “สยามเมืองยิ้ม” แถมอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จะว่าไปแล้วประเทศนี้เปรียบเสมือนบ้านของเรา หากจะมี “สมาชิกในครอบครัว” ออกเสียงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงบ้าน หรืออยากจะต่อว่า “นิติบุคคล” ที่ดูแลไม่ดี มีโอกาสเลือกตั้ง นิติบุคคลขึ้นมาใหม่ ในกติกาที่ลูกบ้านทุกคนยอมรับ ก็คงจะดีไม่น้อย แล้วก็คงจะทำให้ “บ้านหลังนี้” เป็นของคนทุกคน สมาชิกทั้งหมดพึงพอใจและอยู่ได้อย่างมีความสุข

แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีสมาชิกที่เกิดมาใหม่ ที่เขาจะต้องอยู่ดูแลบ้านหลังนี้ไปอีกนานในภายภาคหน้า เขาพยายามเรียกร้อง ตื่นตัวและเคลื่อนไหวให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในบ้าน แต่นอกจากจะไม่ถูกรับฟังแล้ว เขายังถูกยามหมู่บ้านต่อว่า ถูกคนมีอำนาจในหมู่บ้านสั่งใช้กำลัง พออยากจะแก้กฎกติกา ก็หาพวกพ้องมาป้องกฎกติกานี้ไม่ให้ถูกแก้ไขในเสียงของสมาชิกหมู่บ้าน หนทางเดียวที่เขาเหลืออยู่จึงตีบตัน ต้องออกไปตามหาความฝัน ความหมายของชีวิต ที่ “หมู่บ้านอื่น” นั่นคือที่มาของการเกิดกระแส “ย้ายประเทศกันเถอะ”

เพียง 1 สัปดาห์กว่าๆ มีสมาชิกในหมู่บ้าน 1 ล้านคนพร้อมใจมาศึกษาหาข้อมูลว่าจะย้ายจากหมู่บ้านที่ไม่มีความหวังนี้ได้อย่างไร หากไปอยู่ในหมู่บ้านอื่น ๆ จะมีสิทธิ ค่าตอบแทน และประสบการณ์ที่มีความหมายกับชีวิตของพวกเขา เพราะช่วงวัยหนุ่มสาว คือ ช่วงวัยที่มีเวลาอันจำกัด หากต้องหมดไปกับสภาพที่ไร้ความหวังก็คงมานั่งเสียดายเมื่อตอนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทำได้แต่ภาวนาฝากคนรุ่นต่อ ๆ ไปก็คงไม่ใช่

แต่ปรากฎการณ์คู่ขนานที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้ คือ ดันมีสมาชิกบางส่วนไล่เด็กออกจากบ้านทุกวัน  ทั้งที่ก็จ่ายค่าเช่า จ่ายภาษีเหมือน ๆ กัน เยาวชนหลายคนพยายามผลักตัวเองเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ พาตัวเองเข้ามาในจุดที่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศบ้าง แต่กลับโดนคนในบ้านไล่ออกประเทศออกไปซะ  พอสิ้นหวัง ก็อยากเก็บกระเป๋าไปเช่าบ้านหลังอื่นอยู่

สิ่งที่น่ากังวลใจจริง ๆ สำหรับคนทุกคนไม่ว่าจะย้ายหรือไม่อยากย้าย ในโลกยุคใหม่ที่เงินทุน-คนเคลื่อนย้ายได้เร็วทั่วโลก แล้วคนที่มีศักยภาพ อย่างวัยหนุ่ม สาว ที่มีแรงมีพลังมีไฟ มีเรี่ยวแรง มีความคิดแปลกใหม่ ทันเทคโนโลยี ในห้วงที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ กำลังจะมีผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นมีสัดส่วนไปมากขึ้นกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ คนที่มีอายุ 40-50 อีก 10 กว่าปีก็จะไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ หรือ สร้าง GDP ให้กับประเทศได้ แต่คุณจะอยู่ในสถานะที่ต้องใช้สวัสดิการของรัฐ โดยเฉพาะสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล จะกลายเป็นผู้ที่ต้องใช้ภาษี แล้วคนรุ่นใหม่ในวัยที่อายุ 20 ต้นๆ ถ้าเขาไม่ย้ายประเทศเขาจะอยู่ในฐานะผู้สร้างรายได้ให้กับประเทศ เป็นฐานภาษีเป็นให้กับประเทศ

จินตนาการเล่น ๆ ว่า ถ้าเกิดเราเสียคนที่มีศักยภาพในวัย 20 กว่าในวันนี้ไป ณ วันข้างหน้านั้นใครจะมาเป็นคนหารายได้เข้าประเทศ จะมาเป็นฐานภาษีให้กับประเทศ ถึงวันนั้นเราจะมีรายได้เพียงพอที่ต่อการปรับปรุงระดับสวัสดิการ ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศได้อย่างไร พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้สูงอายุเราเพิ่มมากขึ้น การใช้ภาษีในการดูแลสวัสดิการต้องใช้มากขึ้น ในขณะที่ประชากรที่เป็นฐานภาษีที่มีศักยภาพย้ายออกจากประเทศนี้ มันจะสวนทางและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งใช่หรือไม่

วันนี้ยังไม่สายเกินไปที่ทุกฝ่ายจะร่วมกัน “สร้างความหวัง” และ หาทางออก โน้มน้าวให้พวกเขาอยากมีไฟในการพัฒนาประเทศบ้านเกิดของเขาให้น่าอยู่ โดยเริ่มจากคนที่คิดเห็นต่าง ยอมเปิดทางให้มีการพูดคุย รับฟังกันอย่างจริงใจ ก่อนที่อะไรจะไปกันใหญ่ แล้วในวันนั้นจะหมดหนทางแก้ไข หากใช้ใจใช้เวลาไตร่ตรองให้ดีจะพบว่ากระแสนี้ “ไม่ควรประมาท” อย่างยิ่ง!

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img