สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัด ระยอง-จันทบุรี-ตราด มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยองโดย จากผลการศึกษาหากก่อสร้างสถานีระยอง แกลง จันทบุรี และตราด แล้วเสร็จ จะพร้อมเปิดดำเนินการภายในปี 2571 คาดว่าจะมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ 5.39 % ส่วนรูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น เบื้องต้น รฟท.ได้เสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน แบบ PPP Net Cost โดยเสนอเป็น 3 แนวทางเลือก คือประกอบด้วย 1 เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา งานระบบ ขบวนรถ และ งาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน 2.เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานเฉพาะงานระบบและตัวรถ และงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน และงานโยธา และ3.เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน งานโยธา งานระบบ และขบวนรถ
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า แผนการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทาง 190 กม.นั้น จะศึกษาแล้วเสร็จภายใน สิงหาคม 2563 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายเขต พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบ และส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในปี 2564 จากนั้นจะจัดเตรียมเอกสาร PPP รวมถึงรายงานผลกระทบและวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในปี 2565 นำไปสู่การหาผู้ลงทุนพร้อมทั้งออกแบบและก่อสร้างในปี 2567 ก่อนที่จะทดสอบระบบและเปิดให้บริการในปี 2571