ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอญัตติ อภิปรายตั้งประเด็นทั้งรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย การปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติไม่คืบหน้า เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อปกครองประเทศไปนานๆ จนไปถึงกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงอยากเห็นนายกรัฐมนตรีเดินสายรับฟังความเห็นนักศึกษาตามมหาวิทยาลัย เหมือนที่เดินสายรับฟังความเห็นสื่อมวลชน เชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น
นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้เสนอญัตติ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับฟังความคิดเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 การชุมนุมทางการเมืองของนักเรียนนักศึกษาถูกระงับโดยปริยาย แม้จะควบคุมการระบาดได้ แต่ยังมีเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสิ่งตอกย้ำว่าควรมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมารับฟังความเห็น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใด และรัฐสภาควรมีบทบทสำคัญเพื่อไม่ให้นำไปสู่เหตุการณ์ที่แรงกว่านี้ เพราะนักศึกษารู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับปัญหาทางการเมือง และเยาวชนกลุ่มนี้จะอยู่ต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 50 ปี จึงควรให้มีส่วนร่วมออกแบบสังคมที่เป็นอยู่ และลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19
ด้านนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้เสนอญัตติแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจกับการชุมนุมตามวิถีทางประชาธิปไตย ตราบใดที่ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของผู้อื่นและไม่ขัดต่อกฎหมาย ย่อมมีสิทธิที่จะทำได้ และเรียกร้องไปยังผู้ถืออำนาจรัฐ ควรเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นของตัวเองอย่างอิสระ สร้างบรรยากาศให้ผู้ที่ออกมาเรียกร้องมีความปลอดภัยภายใต้กฎหมายเดียวกัน และรัฐบาลต้องรับฟังขอ้เรียกร้องอย่างเป็นเหตุผล ไม่มีอคติ ไม่ควรผลักไสให้คนที่มีความคิดเห็นตรงข้ามรัฐบาลไปอยู่คนละมุม เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรุนแรงของสังคม และอยากเชิญชวนทุกฝ่ายใช้เวทีสภาในการแก้ปัญหา ให้คนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขกติกาของประเทศ และต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ และควรจะให้มีกรรมาธิการคนนอกเข้ามารับฟังความเห็นด้วย