โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 พบว่า มีจำนวนของลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือแล้วถึง 11.16 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 3,789,698 ล้านบาท โดยประเภทของสินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คือ สินเชื่อเกษตร จำนวน 5.7 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 1,313,285 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อบุคคล ช่วยเหลือลูกค้าได้จำนวน 4.6 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 1,704,210 ล้านบาท และสินเชื่อประเภท SMEs (อาทิ ท่องเที่ยว ค้าส่ง/ค้าปลีก และอุตสาหกรรม) จำนวน 175,342 ราย วงเงินสินเชื่อ 723,044 ล้านบาท
ส่วนรูปแบบของมาตรการความช่วยเหลือ ที่สถาบันการเงินของรัฐจัดทำให้กับลูกค้าถือว่ามีความหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับระดับความเดือดร้อนของลูกค้าประชาชน หรือผู้ประกอบการ โดยลูกหนี้ส่วนใหญ่ได้เข้ามาตรการ พักชำระหนี้ จำนวนถึง 7.2 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 3,012,952 ล้านบาท หรือเลือกเข้ามาตรการอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับปัญหาและความต้องการของลูกค้าเอง อาทิการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพื่อลดจำนวนเงินงวด การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นต้น
นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือให้สินเชื่อเพิ่มเติมทั้งลูกหนี้เดิม และลูกหนี้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน จำนวน 3 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวม 183,554 ล้านบาท แก่ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งสามารถลดผลกระทบให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างมาก
สำหรับแนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคง ให้ความสำคัญกับการติดตามดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างใกล้ชิด แม้ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ลงเพื่อให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาฟื้นตัว แต่สถานการณ์ในอนาคตยังคงมีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ สามารถค้นหารายละเอียดของมาตรการได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อรวบรวม และเป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลมาตรการด้านการเงินของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งในการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตรงความต้องการของลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการ