โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น คือการที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 และ 4 ต่อเนื่อง หลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายในระยะที่ 1 และ 2 รวมทั้งมีการยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว เพื่อให้กิจการห้างร้านต่างๆได้กลับมาเปิดดำเนินธุรกิจและประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมได้หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้มาตรการในการดูแลเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19 ของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้ รวมถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี
แต่อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีในระดับดังกล่าว ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำโดยมีปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคยังคงมีความกังวล คือการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่ยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ ถึงแม้ว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มดีขึ้นก็ตาม รัฐบาลยังคงขยายระยะเวลาในการใช้พรก.ฉุกเฉิน เพื่อจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาด ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกในเดือนพฤษภาคมยังคงติดลบสูง ห่วงสงครามการค้า และค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวและค่าครองชีพสูง
นอกจากนี้ยังพบว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจรวมในเดือนมิถุนายน ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 41.4 โอกาสในการหางานทำดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.6 และรายได้ในอนาคตดีขขึ้นอยู่ที่ระดับ 58.6