โดย นายแพทย์เอกภพ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในวัยที่เป็นเสาหลักทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อตกงานหรือขาดรายได้แบบเฉียบพลัน ทำให้เกิดแรงกดดันจนทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย และสิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็คือ การพักหนี้ภาคครัวเรือนและพักหนี้สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กแบบหยุดทั้งต้นทั้งดอก
โดย นายแพทย์เอกภพ ยังได้เสนอให้มีการทบทวนเกี่ยวกับมาตรการการปิดเมือง โดยได้ยกตัวอย่างข้อมูลทางระบาดวิทยาของจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการเตรียมเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยไว้ประมาณ 400 เตียง ที่โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยจังหวัดเชียงรายยังสามารถรับมือเพื่อลดการกระจายเชื้อได้อีกในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการเล็กน้อยประมาณ 1,600 คน หากเทียบกับจำนวนห้องพักของโรงแรมในจังหวัดเชียงรายที่เวลานี้มีการปิดกิจการชั่วคราว จากสถานการณ์ล่าสุด มีข้อมูลบ่งชี้ว่า จังหวัดเชียงรายสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสได้วันละ 150 – 200 ตัวอย่าง ซึ่งหมายความว่า ต่อให้เชียงรายมีคนไข้เพิ่มจำนวนวันละมากกว่า 100 ราย ระบบสาธารณสุขของเชียงรายก็ยังรับมือไหว ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่ต้องเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมได้เสียที ตนเชื่อว่าประชาชนรู้วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคและมีระบบเฝ้าระวังในชุมชนที่เข้มแข็ง โดย อสม.เป็นคนทำงานในพื้นที่ประสานกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและโรงพยาบาล จะยังทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อไม่ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบรับไม่ไหวเหมือนที่เกิดกับหลายประเทศ
ที่ผ่านมาประชาชนยอมลำบากเพื่อช่วยแบกภาระในการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขและโรงพยาบาลรองรับไหว และมีเวลาปรับตัวเพื่อรับมือกับคนไข้ที่จะมีมากขึ้น
ทั้งนี้ นายแพทย์เอกภพ ยังได้ตั้งคำถามอีกว่า เวลา 1 เดือนที่ผ่านมา รัฐได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง เพราะหากทำแล้วระบบสาธารณสุขควรจะมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการรับมือกับจำนวนผู้ติดเชื้อแม้จะเปิดให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ตาม