วันนี้ (2 เมษายน 2563) ตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ย้ำการสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน ทำงานด้วยความช่วยเหลือกัน ไม่ขัดแย้ง และเสนอคณะรัฐมนตรีในทุกมาตรการ
โดยนายกรัฐมนตรีได้หารือ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการรองรับทางเศรษฐกิจโดยต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ครบถ้วน เช่น ตราสารหุ้น การบรรเทาหนี้ การดำเนินการระบบภาษี ลดภาษี เมื่อสถานการณ์ยุติ ต้องมีมาตรการเพื่อการฟื้นฟู ด้านการลงทุนต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการในส่วนของงบประมาณ ต้องเป็นการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งค่อนข้างมีขั้นตอน ละเอียด และต้องใช้เวลา
ในส่วนของสินค้าทางการแพทย์ เตียง หน้ากาก N95 ชุด PPE นายกรัฐมนตรีสั่งการให้จัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการ และส่วนการนำเข้าสินค้าทางการแพทย์ มีขั้นตอนในการดำเนินการ แต่เรื่องภาษีนำเข้าได้รับการแก้ไขแล้ว การจะซื้อสินค้าผ่านระบบ G to G เช่น กับประเทศจีน มีขั้นตอนที่ประเทศจีนจะต้องรับรองบริษัทจึงจะผ่านระบบได้ จึงเป็นส่วนที่ต้องทำความเข้าใจกับสังคม ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยแจ้งว่าได้ดำเนินการร่วมการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บริหารจัดการด้านการขนส่ง และกระจายหน้ากากอนามัยผ่านระบบการสื่อสาร เพื่อหน้ากากอนามัยถึงปลายทางโดยเรียบร้อย
นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจกับประชาชน ในการดำเนินการส่วนหนึ่งส่วนใด มีกฎระเบียบ ขั้นตอน รายละเอียดปลีกย่อย ที่ต้องร่วมพิจารณา เพราอาจเกิดผลกระทบต่อส่วนรวมได้ จึงขอให้ทุกหน่วยงานสร้างความเข้าใจกับประชาชน ผ่านทุกช่องทางการสื่อสารของรัฐ เช่น เพจไทยคู่ฟ้า ไม่ให้เกิดการบิดเบือน เป็นประเด็นทาง Social Media
ในส่วนของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล ยังรวมกลุ่ม นั่งดื่ม ขอให้น่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายพิจารณาลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด
การเดินทางเข้าประเทศไทยนั้น นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ชะลอการเดินทางจากต่างประเทศจนถึง 15 เมษายน เพื่อเตรียมพื้นที่ State Quarantine และเพื่อให้ทุกคนผ่านการประเมินทางสุขภาพอย่างครบถ้วน ในการเดินทางผู้เดินทางต้องมีเอกสารกรอกข้อมูลการเข้าประเทศ ผ่านการประเมินสุขภาพ มีเอกสาร fit to fly และสั่งการให้ ศบค. นำข้อมูลมาวิเคราะห์ วางแผนให้ถี่ถ้วน เพราะเมื่อเดินทางเข้าประเทศมาแล้ว จะต้องหามาตรการมาควบคุมให้รัดกุม แก้ปัญหาบุคคลเสี่ยงที่หายไประหว่างเดินทางไปยังสถานที่ Quarantine หรือที่พัก ส่วนการ กลับประเทศไทยของกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ขอให้ชะลอตามที่แจ้งข้างต้น และพิจารณาพื้นที่รองรับการทำ State Quarantine สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบไปยังต้นทางการเดินทางว่ามีนักเรียนจำนวนเท่าไหร่ จัดให้ทะยอยกลับ เพื่อให้พื้นที่รองรับสู่ State Quarantine เพียงพอ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเข้าใจดีถึงความกังวลของนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองที่อยากเดินทางกลับประเทศ จึงขอให้กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณสุข และมหาดไทยร่วมดูแล ให้มีแนวทางรองรับที่ชัดเจน มาตรการป้องกัน และช่วยเหลือประชาชนภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยควบคุมด่านไม่ให้เกิดความแออัด ซึ่งขณะนี้ด่านทางบกปิดหมดแล้ว แต่ยังมีคนมารอเข้า-ออก และควบคุมพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด กระทรวงมหาดไทยแจ้งด้วยว่าพร้อมดำเนินการสร้างความเข้าใจกับประชาชนผ่านหอ กระจายข่าว
ในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีแจ้งเรื่องการยกระดับมาตรการในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติมโดยกำหนดเคอร์ฟิวทั่วประเทศระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. ตั้งแต่วันศุกร์นี้ (3 เม.ย.) เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ยกเว้นผู้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทาง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ การขนส่งเวชภัณฑ์ การขนส่งผู้ป่วย การขนส่งด้านพลังงาน และการขนย้ายประชาชนสู่พื้นที่ควบคุม เป็นต้น
ต่อมา เวลา 18.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการโนสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉนับที่ 2)
โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและได้ออกข้อกำหนด (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 25 มี.ค.2563 แล้วนั้น เพื่อให้มีมาตรการต่างๆ เพื่อขึ้นตามความจำเป็น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ดังต่อไปนี้
ข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ข้อ.1 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หนังสือพิมพ์ การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปที่เอกเทศ เพื่อกักกันตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติหรือการเดินทางมาจากไปยังท่าอากาศยาน
โดยมีเอกสารรองรับรองความจำเป็นหรือ เอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง และมีมาตรการป้องกันโรคตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) หรือเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งต่างๆ ของทางราชการ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นๆ โดยได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้ใดฝ่าฝืนข้อนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 18 แห่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ข้อ.2 ในกรณีที่มีการประกอบธุรกิจ สั่ง ห้าม เตือนโดยแนะนำในลักษณะเดียวกับข้อ 1 วรรคหนึ่ง สำหรับจังหวัด พื้นที่หรือสถานที่ใดโดยกำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาที่เข้มงวดหรือเคร่งครัดกว่าข้อกำหนดนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศโดยคำสั่งนั้นต่อไปด้วย
ข้อ.3 ในกรณีที่ไม่อาจเคลื่อนย้ายบุคคลใดซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเพื่อออกไปนอกราชอาณาจักรได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครจักที่เอกเทศเพื่อควบคุมหรือกักกันบุคคลดังกล่าวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ประกาศณวันที่ 2 เม.ย.2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี