นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและแกนนำพรรคเพื่อไทยได้โพสต์บทความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวในประเด็นความล้มเหลวของระบบต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ในตอนที่สอง หลังรัฐประหารปี 2557 เกิดอะไรขึ้นกับระบบต่อต้านการคอรัปชั่น นับตั้งแต่คสช.ทำรัฐประหารยึดอำนาจเป็นต้นมา ระบบการต่อต้านคอรัปชั่นก็เปลี่ยนไปอย่างมาก การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ ถูกจำกัดลงอย่างมาก กล่าวคือ
1. ไม่มีการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
2. การตรวจสอบโดยสื่อมวลชนทำได้อย่างจำกัด
3. การตรวจสอบโดยภาคประชาชนถูกขัดขวาง ทั้งด้วยการใช้อำนาจของคสช.และการดำเนินคดีทั้งในศาลทหารและศาลยุติธรรม
4. การใช้คำสั่งคสช
5. ไม่ปรากฎว่า มีการจัดระบบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่เชื่อได้ว่า กลับกันมีคำสั่งคสช.กำหนดสาระสำคัญและกระบวนการทำงานของโครงการ โดยให้ยกเว้นการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น
นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่าองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งต่อมาก็บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 แล้วรับรองโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้สิ่งที่เรียกกันว่า องค์กรอิสระทั้งหลาย รวมทั้งที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่อต้านหรือปราบปรามคอรัปชั่นไม่มีความเป็นอิสระอีกต่อไป โดย คสช. ออกคำสั่งหลายครั้งที่มีลักษณะทำให้อำนาจในเรื่องที่เกี่ยวกับกับป้องกันปราบปรามการทุจริตอยู่ในมือของคสช.อย่างสมบูรณ์ ต่อมามีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติขึ้น ภายในสำนักงาน คกก.ปปท. หรือ ศอตช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดแนวทางและแผนการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของฝ่ายบริหารในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ มีหัวหน้าคสช.เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กว้างขวางมาก เช่น จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และเสนอให้ครม.ทราบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ติดตามประสานงานและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฎหมายและหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง คำสั่งนี้ มีลักษณะครอบคลุมกว้างขวางมาก องค์กรที่มีหัวหน้าคสช.เป็นประธานนี้ กลายเป็นองค์กรสูงสุดในเรื่องคอรัปชั่นที่กำกับควบคุมองค์กรทั้งหลายทั้งปวง แต่องค์กรที่ตั้งขึ้นนี้ ต่อมาก็ไม่ได้มีบทบาทที่เป็นแก่นสารใดๆจนกลายเป็นระบบที่ไม่ได้อาศัยองค์กรอิสระ หรือไม่มีองค์กรอิสระที่อิสระจริง อำนาจอยู่ที่คสช.เป็นหลัก ถัดมา คือ รัฐบาล
นายจาตุรนต์กล่าวต่อไปว่า สำหรับปปช.นั้น นอกจากถูกครอบและบดบังโดยระบบและโครงสร้างไปแล้ว ปปช.เองยังถูกแทรกแซงโดยคสช.และรัฐบาลโดยตรงอีกด้วย โดยการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นแทน ในการนี้คสช.ได้ออกคำสั่งกำหนดให้ประธานสนช.และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายเข้าเป็นกรรมการสรรหาและต่อมาได้ผ่านความเห็นชอบของสนช. จนได้เป็นคณะกรรมการปปช.ชุดปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า กรรมการคนสำคัญบางคนเป็นคนสนิทของคสช.โดยตรง 3 ปีกว่าภายใต้การปกครองของคสช. ระบบในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนทำให้แท้จริงแล้ว ในระบบนี้ไม่มีองค์กรอิสระ หากแต่เป็นระบบที่คสช.กำกับควบคุมได้ หรือเรียกได้ว่า รวมศูนย์อำนาจอยู่ในมือของของคสช.อย่างสมบูรณ์ ระบบนี้อยู่ในสภาพที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งจากฝ่ายนิติบัญญัติ สื่อมวลชน และประชาชน
นายจาตุรนต์กล่าวทิ้งท้ายว่า ภายใต้ระบบที่สังคมจะสามารถตรวจสอบการทำงานของ คสช.และรัฐบาลได้อย่างจำกัดมากนี้ แม้จะมีข่าวการทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้นๆ แต่ก็ไม่มีใครทราบว่า แท้จริงแล้วมีการทุจริตคอรัปชั่นมากหรือน้อยเพียงใด สังคมจะได้รับรู้ความจริงกัน ก็ต่อเมื่อมีระบบในการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นที่ดีและมีประสิทธิภาพ และต่อเมื่อประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบการทำงานของรัฐแล้วเท่านั้น ระบบที่การตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อป้องกันปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นทำได้อย่างจำกัดนี้ จะอยู่กับเราไปอีกอย่างน้อยตลอดระยะเวลาที่คสช.ยังอยู่ในอำนาจ ส่วนระบบที่ถูกออกแบบไว้สำหรับอนาคตเป็นอย่างไรจะเอาไว้พูดกันในคราวหน้า