กรุงเทพฯ – วันที่ 17 พ.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) เพื่อทั้งสองหน่วยงานกลับมา พิจารณาอย่างรอบครอบอีกครั้งในด้านของกฎหมาย เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token : G-Token) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกําหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยปรากฏในรายงานการประชุมสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบและไม่ขัดข้อง
อย่างไรก็ตาม ตนมีความเป็นห่วงว่าการพิจารณากฎหมายบางประเด็นอาจเป็นตัวอย่างสำหรับการปฏิบัติที่จะก่อความเสี่ยงต่อฐานะการคลังและการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต จึงขอให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาดำเนินการขั้นต่อไป ดังนี้ พรบ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ไม่ได้รองรับโทเคนดิจิทัล ถึงแม้มาตรา 10 วรรคหนึ่ง จะระบุว่า “การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทําเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้ หรือวิธีการอื่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ” แต่คำว่า “วิธีการอื่นใด” ไม่สามารถตีความรวมไปถึงโทเคนดิจิทัลได้ เพราะยี่สิบปีก่อนหน้าในปี พ.ศ. 2548 ยังไม่ได้มีการสร้างบิตคอยน์เกิดขึ้น ยังไม่มีธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ ในร่าง พรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติคำว่าโทเคนดิจิทัลนั้น เกิดขึ้นสิบสามปีภายหลัง และได้ระบุหลักการและเหตุผลว่า ตราขึ้นเพื่อกํากับหรือควบคุมการนำคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนและค้าขายระหว่างเอกชน จึงเป็นวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบในธุรกิจเอกชน แต่มิใช่การตรากฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารหนี้สาธารณะแต่อย่างใด ดังนั้นตนจึงมีความเห็นว่ายังไม่มีกฎหมายใดที่อาจตีความได้ว่าให้อำนาจกระทรวงการคลังในการออกโทเคนดิจิทัลในกระบวนการบริหารหนี้สาธารณะตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2548 ที่จะส่งผลให้โทเคนดิจิทัลของรัฐบาลเข้าข่ายพระราชบัญญัติเงินตรา
รวมทั้งใน พรก.ดังกล่าว บัญญัติว่า “สินทรัพย์ดิจิทัล”หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซีและเคนดิจิทัล โดย “คริปโทเคอร์เรนซี” มีลักษณะเป็นเงินตราอย่างหนึ่งซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 นั้น ถึงแม้กระทรวงการคลังแถลงข่าวว่าสิ่งที่ออก G-Token เป็นโทเคนดิจิทัลและมิได้หมายจะให้เป็นเงินตรา แต่พฤติกรรมการใช้งานโดยประชาชนจะทำให้ G-Token กลายสภาพเป็นคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งเป็นเงินตราโดยอัตโนมัติ

อดีต รมว.คลังกล่าวว่า ด้วยเหตุผลดังนี้ ก) ผู้ออกเป็นกระทรวงการคลังซึ่งมีเครดิตและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยเป็นประกัน จึงจะเป็นที่เชื่อมั่นจะนิยมโดยประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งแตกต่างจากโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยนิติบุคคลเอกชนเนื่องจากมีขอบเขตการใช้งานที่จำกัด ข) โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยนิติบุคคลเอกชนไม่อาจนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นได้ จึงไม่มีสภาพเป็นเงินตรา แต่ G-Token มีความน่าเชื่อถือสูงที่จะสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นได้ จึงมีสภาพเป็นคริปโทเคอร์เรนซีซึ่งเป็นเงินตรา และ ค) ถึงแม้กระทรวงการคลังอาจมิได้มีความประสงค์ที่จะให้ประชาชนใช้ G-Token เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการหรือสิทธิอื่นใดในทำนองคริปโทเคอร์เรนซี แต่ในทางปฏิบัติประชาชนจะเชื่อถือและยอมรับการใช้ G-Token ในการชำระหนี้ระหว่างกัน อันจะทำให้มีสภาพข้อเท็จจริงตามเนื้อหาทางเศรษฐกิจเป็นเงินตราอย่างหนึ่งโดยอัตโนมัติ
ดังนั้นตนจึงเห็นว่าการออก G-Token โดยรัฐบาลจะกระทบการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าข่ายฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 10 ซึ่งให้อำนาจกระทรวงการคลังเฉพาะจัดทําและนําออกใช้ซึ่งเหรียญกษาปณ์ ส่วนในมาตรา 14 อำนาจในการจัดทำ จัดการ และนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลนั้นเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย และขอเรียนว่าภาพพจน์ที่รัฐบาลไทยจะสามารถดำเนินการเสมือนหนึ่งพิมพ์เงินตราได้เองเพื่อชดเชยรายจ่ายงบประมาณที่ขาดดุลจะก่อความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทยในสายตาของชาวโลกอย่างหนัก ตนจึงขอปฏิบัติหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ แจ้งข้อมูลนี้เพื่อประโยชน์แก่ท่านเพื่อพิจารณาให้คำแนะนำต่อรัฐบาลอันจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประเทศชาติและประชาชน