ที่มาและวิธีการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ
ประเทศไทยของเราเริ่มรู้จักการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งน่าจะเป็นวิชาแรกที่ไทยเราส่งผู้แทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขันเมื่อราว ๆ สามสิบกว่าปีมานี้เอง โดยศ.ดร. ไพศาล นาคมหาชลาสินธุ์ เป็นผู้แทนนักเรียนไทยคนแรกที่ได้เหรียญรางวัล เป็นเหรียญทองแดงสองครั้งในปี พ.ศ.2532 และ 2533 ซึ่งในยุคแรกเริ่มนั้น ประเทศไทยของเรายังไม่มีวิธีการและรูปแบบการคัดผู้แทนประเทศไทยที่เป็นระบบระเบียบอย่างชัดเจนและแน่นอน ประเทศไทยเริ่มมีรูปแบบการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยเพื่อไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนานาชาติที่เป็นขั้นตอนกระบวนการชัดเจนเหมือนกับประเทศอื่น ๆ โดยการกำหนดเป็นระบบกติกาเหมือนกับมาตรฐานสากลเมื่อราว ๆ ยี่สิบปีที่ผ่านมา ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล และน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อเยาวชนของชาติของ “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ทรงดำริให้มีการจัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ซึ่งรูปแบบการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยนั้น จะมีการคัดเลือกในรอบและค่ายต่างๆ ดังแสดงในภาพ

รูปภาพแสดงขั้นตอนการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย ไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ โดยวิชาคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ นักเรียนจะสามารถสมัครสอบคัดเลือกได้ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ส่วนวิชาฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยานั้น นักเรียนจะสามารถสมัครสอบคัดเลือกได้ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้นไป ซึ่งรูปแบบการคัดเลือกตามภาพนี้เป็นรูปแบบการคัดเลือกที่เป็นสากลและใช้กันในแทบทุกประเทศเหมือนกันทั่วโลก
เหตุแห่งความผิดปกติและไม่โปร่งใส
ในยุคแรกเริ่มที่ใช้ระบบการคัดเลือกที่ชัดเจนและเป็นสากลนั้น กระบวนการต่างๆ ล้วนเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม นักเรียนผู้เข้ารับการคัดเลือกต่างเข้าสอบกันด้วยความรู้ความสามารถ ผู้ปกครองไม่ค่อยเน้นหนักในการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยมากเท่าไรนัก เนื่องจากเห็นว่าการสอบคัดเลือกเพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทยนั้นมีหลายรอบและเป็นการแข่งขันแบบแพ้คัดออก ทั้งยังมีความเห็นว่าการที่เด็กนักเรียน จะได้รับการคัดเลือกเพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนั้นจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถมากจริง ๆ หรือที่เราเรียกกันภาษาชาวบ้านว่าเป็นเด็กหัวกะทิ จึงจะผ่านการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทย ดังนั้นค่านิยมของผู้ปกครองส่วนใหญ่ในยุคก่อน จึงนิยมให้บุตรหลานของตนเน้นหนักในการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้คณะที่ตนเองต้องการมากกว่า จนกระทั่งเมื่อมีประกาศสิทธิพิเศษต่าง ๆ สำหรับนักเรียนที่ผ่านการอบรมค่ายต่าง ๆ ของ สอวน. และสสวท. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้นักเรียนสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ตนเองต้องการได้ นอกเหนือจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในช่องทางปกติ ผู้ปกครองและนักเรียนหลาย ๆ คน จึงเลือกเอาช่องทางการเข้าค่าย สอวน. เป็นช่องทางในการเข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้น เมื่อมีความต้องการมากขึ้นดังนี้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาในระบบการศึกษาของเราคือ “การกวดวิชาหรือสอนพิเศษ” นั่นเอง ซึ่งรูปแบบการกวดวิชาสำหรับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนี้ จริง ๆ แล้วมีมานานเกือบยี่สิบปีแล้ว และเป็นตัวช่วยที่มีผลอย่างมากในการทำให้ผลงานของเด็กไทยในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ดีขึ้น แต่เป็นการเรียนเฉพาะกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีความสนใจจริง ๆ เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากผลงานของผู้แทนประเทศไทยตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ประเทศไทยของเราสามารถติดสิบอันดับแรกของโลกได้หลายครั้ง ซึ่งสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้จาก กระบวนการที่ผิดปกติและฉ้อฉล
อย่างไรก็ตามในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ก็ได้มีกระบวนการสอนพิเศษโดยอาจารย์ที่สอนในค่าย สอวน. หรือสถาบันกวดวิชาที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ผู้สอนในค่าย สอวน.หรือ สสวท. แต่มีความสัมพันธ์กับอาจารย์ผู้สอนในค่ายหรือผู้บริหารที่มีตำแหน่งหน้าที่ใน สสวท. ได้มีการเผยแพร่ข้อสอบเพื่อใช้ในการสอบคัดเลือก ในสถาบันกวดวิชาของตนเองตั้งแต่การสอบคัดเลือกเข้าอบรมค่ายของ สอวน. ไปจนกระทั่งค่ายอบรมครั้งที่ 2 ของสสวท.หรือที่เรามักเรียกกันแบบง่าย ๆ ว่าค่ายคัดผู้แทนประเทศไทย ซึ่งมีหลักฐานปรากฎดังภาพ

รูปภาพจากสถาบันสอนพิเศษ เมื่อวันที่ 20/8/66 รูปภาพจาก สอวน. ที่สอบเมื่อวันที่ 27/8/66
กระบวนการสอบคัดเลือกในค่าย 1 และค่าย 2 ของสอวน. การแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติ ตลอดจนการสอบคัดเลือกของสสวท.ทั้งสองครั้งนั้น เป็นที่รู้กันว่ามีอาจารย์ผู้สอนในค่ายออกมาเปิดสอนกวดวิชากันอย่างมากมาย ซึ่งมีทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้เกิดกระบวนการรั่วไหลของข้อสอบที่ใช้คัดเลือกในค่ายต่างๆ กระทั่งในปีปัจจุบันคือปี 2567 ว่ากันว่ามีการซื้อขาย shortlist ข้อสอบโอลิมปิกระดับชาติวิชาคณิตศาสตร์ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในราคาถึงข้อละ 50,000 บาท ซึ่งถ้ารวมมูลค่าทั้งหมดจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 5,000,000บาทเลยทีเดียว
Shortlist นั้นสำคัญไฉน
การได้มาซึ่งข้อสอบสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติและโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศนั้น ข้อสอบจะถูกคัดเลือกมาจากสิ่งที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า shortlist เรามาทำความรู้จัก shortlist กันครับว่ามันคืออะไร และมีความสำคัญต่อการคัดเลือกและการสอบแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติและนานาชาติอย่างไร Shortlist คือข้อสอบที่ถูกส่งมาเพื่อให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันทำการเลือกเพื่อใช้เป็นข้อสอบจริงนั่นเอง โดยข้อสอบ shortlist สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกระดับชาติ จะถูกส่งมาจากศูนย์โอลิมปิกวิชาการ ทั่วประเทศทั้งหมด 16 ศูนย์ เพื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกเป็นข้อสอบจำนวน 8-12 ข้อ สำหรับการสอบระดับชาติสองวัน วันละ 4-6 ข้อ ส่วนในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในระดับนานาชาตินั้นก็เช่นเดียวกัน คือชาติต่างๆ จะส่งข้อสอบไปให้คณธกรรมการกลาง ซึ่งโดยมากมักจะเป็นชาติเจ้าภาพเป็นผู้ทำการคัดเลือกข้อสอบ จำนวน 6 ข้อ สำหรับการสอบสองวัน วันละ 3 ข้อ
ดังนั้นผู้ที่ได้ shortlist ก็เปรียบเสมือนการได้ข้อสอบไปทำก่อนนั้นเอง ซึ่งสำหรับการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ (TMO) นั้น หากนักเรียนผู้เข้าแข่งขันได้เหรียญรางวัลก็จะมีสิทธิพิเศษในการยื่น portfolio เข้ามหาวิทยาลัยได้เลย ซึ่งสามารถตรวจสอบสิทธิพิเศษเหล่านี้ได้จาก website ของมหาวิทยาลัยเองหรือ website ของมูลนิธิ สอวน.ก็ได้ที่ www.posn.or.th ส่วน shortlist สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกนานาชาตินั้น มีความสำคัญอย่างไร เรามาดูกันต่อครับ
การแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกนานาชาตินั้น ก็จะใช้การเลือกข้อสอบจาก shortlist เช่นเดียวกัน ซึ่งข้อสอบที่ถูกเลือกจำนวน 6 ข้อก็จะใช้เป็นข้อสอบแข่งขัน ส่วนข้อสอบที่เหลือที่คณะกรรมการไม่ได้เลือกเป็นข้อสอบแข่งขันนั้น หัวหน้าทีมโอลิมปิกวิชาการของประเทศต่างๆ จะเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งประเทศไทยเราเองก็ได้มีการเก็บรักษาไว้เช่นเดียวกัน และใช้เป็นข้อสอบคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยสำหรับค่ายอบรม และคัดเลือกผู้แทนครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ของสสวท. แต่ก็มีการรั่วไหลของข้อสอบเกิดขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผลงานของนักเรียนไทยในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกนานาชาติตกต่ำลงในปัจจุบัน
ความตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี เกิดจากอะไร ?
ผลงานของนักเรียนไทยในการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกปีที่ผ่านมา คือปี พ.ศ. 2567 นั้น ถือได้ว่าตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาคือประเทศไทยเของเราได้อันดับที่ 35 ของโลก ซึ่งสาเหตุนั้นน่าจะมาจากการคัดเลือกที่ไม่โปร่งใส และอาจจะรวมถึงการบริหารงานที่ไม่โปร่งใสเองของสสวท.ด้วย
อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วว่า shortlist มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และหัวหน้าทีมโอลิมปิกวิชาการของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันเป็นผู้เก็บรักษาไว้เพื่อใช้คัดเลือกนักเรียนผู้แทนประเทศของตนเองสำหรับการแข่งขันในปีต่อไป ดังนั้นกระบวนการรักษาความลับของข้อสอบนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง นักเรียนที่ผ่านการเข่งขันโอลิมปิกระดับชาติ และได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมครั้งที่ 1 และครังที่ 2 ของ สสวท. จะต้องลงนามในเอกสารรักษาความลับ ว่าจะไม่เอาข้อสอบที่ใช้ในการสอบไปเผยแพร่ก่อนการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกนานาชาติจะเสร็จสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากหลายๆ ชาติทั่วโลกก็ใช้ข้อสอบจาก shortlist นี้ในการคัดเลือกผู้แทนของประเทศตนเช่นเดียวกัน ซึ่งในปี 2024 นี้ข้อสอบ shortlist ของปี 2023 จะต้องถูกเผยแพร่หลังจากวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่แข่งขันเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการ แต่พบว่ามีข้อสอบ shortlist ที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วพร้อมเกณฑ์การให้คะแนน ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้หลายเดือนดังภาพ ทำให้มีนักเรียนที่เข้าสอบคัดเลือกและผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความกังขาต่อกระบวนการคัดเลือกที่ไม่โปร่งใสนี้เป็นอย่างมาก ตั้งแต่มีกระบวนการสอนพิเศษของอาจารย์ที่สอนในค่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการออกข้อสอบ ซึ่งนักเรียนในค่ายคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยต่างรู้กันดีว่ามีใครเรียนกับอาจารย์หรือเรียนกับสถาบันสอนพิเศษที่อาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับกระบวนการคัดเลือก

และยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่อยากให้สังคมช่วยกันตรวจสอบ เนื่องจากมีข้อมูลเชิงลึกว่า มีผู้บริหารระดับสูงของ สสวท. และอาจารย์ที่สอนในค่ายคัดเลือกผู้แทนประเทศไทย วิชาคณิตศาสตร์ มีความสัมพันธ์กับสถาบันสอนพิเศษแห่งหนึ่งที่มีการจัดสอบแข่งขันคณิตศาสตร์เป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม น่ากังขาและขาดความสง่างามต่อสาธารณชน ว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ใด ๆ ในการตรวจให้คะแนนสอบ เนื่องจากการสอบเป็นแบบเขียนบรรยายการพิสูจน์ทางคณิตศาสตร์ หรือมีการเผยแพร่ข้อสอบ shortlist ที่ใช้ในการสอบคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยให้แก่เด็กนักเรียนที่เรียนพิเศษกับสถาบันสอนพิเศษแห่งนั้นหรือไม่
แนวทางการแก้ไขปัญหา ควรดำเนินการอย่างไร
เราสามารถกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้การคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยเป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธ์ ยุติธรรม ได้ด้วยแนวทางดังต่อไปนี้
- เก็บรักษาความลับของข้อสอบ โดยใช้ระบบการกักตัวผู้ออกข้อสอบ หรือผู้เก็บรักษา shortlist เหมือนกับระบบการกักตัวอาจารย์ผู้ออกข้อสอบเข้ามาหาวิทยาลัย
- เพิ่มจำนวนครั้งในการสอบให้มากขี้น จากเดิมค่ายสสวท. ครั้งที่ 2 มีการสอบ 6 ครั้ง อาจจะเพิ่มเป็น 10 -12 ครั้ง และให้ใช้ข้อสอบที่คณาจารย์ออกเองมากขึ้น เมื่อเทียบกับสัดส่วนของข้อสอบจาก shortlist
- เมื่อสอบเสร็จให้ทำสำเนาแจกสำเนากระดาษคำตอบคืนให้ผู้เข้าสอบ พร้อมทั้งฝึกสลับกันตรวจคำตอบ เพื่อเพิ่มพูนทักษะในการโต้แย้ง แสดงความคิดเห็น และเกิดความโปร่งใส เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาในช่วงเวลาหนึ่ง
- ให้ผู้เข้าสอบสามารถทักท้วง และขอดูการให้คะแนนของอาจารย์ได้ โดยให้ดูของตนเองและของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทย เพื่อเปรียบเทียบการให้คะแนนของอาจารย์ผู้ตรวจข้อสอบว่าเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อมีนักเรียนไปขอดูกระดาษคำตอบและคะแนนสอบของตนเอง จะได้รับการบอกแค่คะแนนของตนว่าได้คะแนนเท่าไหร่ โดยที่ไม่ให้นักเรียนดูข้อสอบของตนเอง และของผู้ที่ผ่านการคัดเลือก โดยให้เหตุผลว่าสสวท.สั่งมาว่าไม่ให้เปิดเผยข้อมูล ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นการขัดต่อ พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และพรบ.คุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ดังรายละเอียดที่ปรากฎในภาพว่าสามารถกระทำได้ ดังที่แสดงในภาพ
- คณะกรรมการ และอาจารย์ผู้สอนไม่ควรมีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับสถาบันกวดวิชา ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางตรง หรือทางอ้อม อีกทั้งไม่ควรมีการเปิดสอนพิเศษจากอาจารย์ผู้สอนในค่าย ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดก็ตาม เพื่อความโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรม ซึ่งในเรื่องนี้อาจจะตรวจสอบได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันมีการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์ อย่างไรก็ตามควรจะมีมาตรฐานในการป้องปราม หรือเข้มงวดในเรื่องของจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในวิชาชีพอาจารย์ และผู้บริหารระดับสูงของระบบการศึกษาของประเทศไทย

สุดท้ายนี้ขอวิงวอนให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ช่วยกันปรับปรุงพัฒนาระบบการสอบคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ เพื่อให้เด็กนักเรียนไทยสามารถไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้มากขึ้น และมีความโปร่งใส ไม่มีข้อครหา ให้สมพระเกียรติขององค์ประธานมูลนิธิ สอวน. คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเพื่อความเจริญก้าวหน้าของการศึกษาและประเทศไทยต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือเรียกโดยย่อว่า สำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นองค์กรกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการและบุคลากรภาครัฐให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการบริหารกำลังคนในราชการให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ผดุงไว้ซึ่งระบบคุณธรรมในราชการพลเรือน” ต้องมีคำตอบ นะครับ.?
