หนองคาย แหล่งผลิต ‘กระเทียมอินทรีย์’ คุณภาพสร้างกำไรเกษตรกรปีละ 40,000 บาท/ไร่

38

หนองคาย แหล่งผลิต ‘กระเทียมอินทรีย์’ คุณภาพสร้างกำไรเกษตรกรปีละ 40,000 บาท/ไร่

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถผลิตอาหาร ที่ปลอดภัยมีคุณภาพ และได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยจัดทำโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นแผนแม่บทย่อย เกษตรปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตทางการเกษตร ทั้งนี้ จังหวัดหนองคาย ได้กำหนดวิสัยทัศน์ (พ.ศ. 2566 – 2570) “หนองคาย เมืองน่าอยู่มุ่งสู่เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยววิถีลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงการค้าชายแดน” และบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การแผนพัฒนาจังหวัด ในการส่งเสริมการผลิต การรับรองมาตรฐานไปจนถึงการแปรรูปและการตลาด

ทั้งนี้ กระเทียมอินทรีย์ จ.หนองคาย เป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่กำลังได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในจังหวัด สามารถสร้างกำไรให้เกษตรกร 40,000 บาท/ไร่/ปี ซึ่งจากการติดตามของ สศท.3 พบว่า เกษตรกรในพื้นที่มีการปลูกกระเทียมอินทรีย์อย่างแพร่หลาย และมีการรวมกลุ่มผลิตและการบริหารจัดการร่วมกัน โดยผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์ที่สำคัญของจังหวัดหนองคาย ในปี 2567 ประกอบด้วย 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่มเกษตรอินทรีย์พารวย ต.อุดมพร อ.เฝ้าไร่ ,กลุ่มเกษตรอินทรีย์ห้วยเดื่อ ต.เฝ้าไร่ อ.เฝ้าไร่ และกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านสร้างนางขาว ต.สร้างนางขาว อ.โพนพิสัย โดยกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์ ทั้ง 3 กลุ่ม มีเกษตรกรรวม 68 ราย พื้นที่ปลูก 28 ไร่ เกษตรกรได้ผ่านการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems: PGS) ทุกราย เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ขาวพื้นเมือง หรือขาวหนองคาย และจะเพาะปลูกช่วงเดือนตุลาคม–ธันวาคม เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของปีถัดไป ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวรวม 120 วัน

สำหรับความโดดเด่นของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์หนองคายไม่ได้อยู่แค่การผลิตวัตถุดิบคุณภาพสูง แต่ยังรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปที่หลากหลาย ทั้งกระเทียมมัดจุกตากแห้ง กระเทียมดอง และกระเทียมดำ ช่วยเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดให้กว้างขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรยังได้นำเทคโนโลยีมาใช้ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่เครื่องจักรกลการเกษตร ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ โรงเรือนเก็บผลผลิต ไปจนถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ด้านสถานการณ์การผลิต ปีการผลิต 2566/67 กลุ่มผู้ปลูกกระเทียมอินทรีย์ ทั้ง 3 กลุ่ม มีต้นทุนการผลิตกระเทียมอินทรีย์แห้งมัดจุกเฉลี่ย 27,400 บาท/ไร่/ปี ผลผลิตรวม 1.7 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 622 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ย 68,420 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 41,019 บาท/ไร่/ปี ราคากระเทียมอินทรีย์ที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ 20 พ.ย. 67) แบ่งเป็น กระเทียมอินทรีย์แห้งหรือมัดจุกตากแห้ง ราคาเฉลี่ย กก.ละ 100 – 180 บาท กระเทียมดอง (แปรรูป) ราคากระปุกละ 100 บาท กระเทียมอินทรีย์ไว้ทำพันธุ์ (แบ่งขายสำหรับทำพันธุ์) ราคา กก.ละ 150 บาท และกระเทียมดำ ราคาเฉลี่ย 120 บาท/100 กรัม ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 กลุ่มจำหน่ายตามออเดอร์การสั่งจองของพ่อค้ารับซื้อและผู้บริโภคทั่วไป และผลผลิตร้อยละ 30 จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Facebook “กระเทียม/หอมแดง/กระเทียมดอง เกษตรอินทรีย์ 100%” ทั้งนี้ ส่วนมากกลุ่มลูกค้าที่ซื้อกระเทียมอินทรีย์จะเป็นลูกค้ากลุ่มเดิมที่เคยซื้อบริโภคแล้วชื่นชอบกระเทียมปลอดสารพิษและเป็นผู้ที่รักสุขภาพ จึงมีความต้องการซื้อต่อในรอบการผลิตปีถัดไปและบางรายมีการสั่งจองล่วงหน้าไว้ก่อนช่วงเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม การผลิตกระเทียมอินทรีย์ในจังหวัดหนองคายยังคงเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะในช่วงปี 2566–2567 เกษตรกรผู้ผลิตยังประสบปัญหาทั้งด้านต้นทุนการผลิตที่สูง โดยเฉพาะค่าเมล็ดพันธุ์ ชีวภัณฑ์ แรงงาน และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน ยังส่งผลให้เกิดปัญหาเชื้อราในดิน โรคหัวเน่า และรากเน่า ซึ่งกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต และแม้ว่าความต้องการกระเทียมอินทรีย์ในตลาดจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ข้อจำกัดด้านการผลิตทำให้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ

ทั้งนี้ สศก. โดย สศท.3 ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาการผลิตกระเทียมอินทรีย์ของจังหวัด คือ ส่งเสริมการขยายพื้นที่ผลิตในกลุ่มเกษตรกร พัฒนาศักยภาพเกษตรกรผ่านเครือข่ายความร่วมมือ ผลักดันการใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ และสนับสนุนการขอรับรองมาตรฐานอินทรีย์สากล การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ สร้างผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เพื่อสุขภาพและความงาม พัฒนาระบบโลจิสติกส์ครบวงจร และยกระดับมาตรฐานการผลิตและแปรรูปและมุ่งสร้างแบรนด์และเรื่องราวผลิตภัณฑ์ ขยายเครือข่ายการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และพัฒนาศูนย์เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สำหรับกระเทียมอินทรีย์หนองคายถือเป็นต้นแบบความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต แปรรูป จนถึงการตลาด สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน

หากท่านสนใจข้อมูลการผลิตกระเทียมอินทรีย์ของจังหวัดหนองคาย ติดต่อสอบถามได้ที่ นายบุญพา มะโนมัย ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์พารวย ตำบลอุดมพร อำเภอเฝ้าไร่ โทร 08 5274 1827 นายทองอาน ไชยรส ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ห้วยเดื่อ ตำบลเฝ้าไร่ อำเภอเฝ้าไร่ โทร 08 7063 0409 และนางพา ฝ้ายขาว ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านสร้างนางขาว ตำบลสร้างนางขาว อำเภอโพนพิสัย โทร 08 5453 9717 หรือสอบถามข้อมูลผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาการผลิตกระเทียมอินทรีย์ของจังหวัดหนองคาย ได้ที่ สศท.3 อุดรธานี โทร 0 4229 2557 หรืออีเมล zone3@oae.go.th

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#กระเทียมอินทรีย์#ข่าวการเกษตรวันนี้