ถลุงงบฯ 5 แสนล้านแก้ไฟใต้เหลว เชื่อรัฐเลี้ยงไข้-หาประโยชน์?คาด”การข่าว-รปภ.หลวม” (ตอน 2)

267


ตอนที่แล้วบอกว่าจะนำเสนองบประมาณดับไฟใต้ที่พุ่งทะลุเกือบ 5 แสนล้าน ตามข้อมูลในการจัดงบประมาณทั้ง 21 ปีนั้นมีรายละเอียดจำนวนมาก หากใครมีเวลาลองส่องข้อมูลตามเว็บไซต์ข่าวสำนักต่างๆดูจะพบความจริง เพราะแต่ละสำนักได้วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจ  สะท้อนถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหา แต่ผู้เกี่ยวข้องกลับกระเป๋าตุงไปตามๆกัน

มีหลายสำนักข่าวรวมถึง สส.ฝ่ายค้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สรุปไว้น่าสนใจว่า เม็ดเงินที่กำหนดในแผนงานดับไฟใต้ เป็นการเฉพาะไม่ว่าจะเรียกว่าแผนบูรณาการ หรือแผนงานอื่นๆที่ใช้แก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ มากว่า 21 ปี ใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้นเกือบ 5 แสนล้าน หากนับรวมแผนงานอื่นเฉพาะงบประมาณ 2567 ยังไม่ได้รวบรวมอีกจำนวนหนึ่ง ยอดรวมดับไฟใต้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 ถึง 2567 จะทะลุ 5 แสนล้านเลยทีเดียว

ในฐานะที่”จอมมารน้อย”แม้ไม่ได้อาศัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถาวร แต่ญาติ พี่ น้อง รวมถึงมารดายังอาศัยอยู่ในพื้นที่ เห็นตัวเลขงบประมาณรู้สึกงุนงงกับผลงานที่รัฐบาลตั้งแต่ปี 2547-2657 ที่ยังแก้ปัญหาไฟใต้ไม่สมราคากับเม็ดเงินที่ทุ่มไป ดังนั้นที่ชาวบ้านต่างเชื่อว่านี่คือการเลี้ยงไข้ของรัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้เกินเลยไปแต่อย่างใด

ขอยกข้อเท็จจริงเพื่อสะท้อนถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหา โดยอดีตเจ้าหน้าที่เก็บกู้ระเบิดในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า หากพร้อมใจกันแก้ปัญหาจริงๆสงบไปนานแล้ว แต่มีหลายอย่างซ่อนอยู่ที่ไม่อยากให้ไฟใต้ดับมอด ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ที่ผู้มีอำนาจต่างดึงเข้ากระเป๋าตัวเองและบริวารทั้งสิ้น

“อย่างกรณีหากมีเหตุลอบวางระเบิดในหลายๆจุดพร้อมกัน ในแวดวงหน่วยกู้ระเบิดส่วนใหญ่จะรู้ๆกันอยู่ว่าฝีมือใคร เพราะหลังวางแล้วจะแจ้งเตือนมาพร้อมวิธีเก็บกู้ให้เรียบร้อย แต่บางครั้งเป็นฝีมือกลุ่มแนวร่วมมุ่งทำร้ายเจ้าหน้าที่เพื่อโชว์ศักยภาพสร้างราคาให้กับกลุ่มตัวเอง ความเคลื่อนไหวลักษณะนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่บางหน่วยทราบดี แต่วางเฉยแบบธุระไม่ใช่”อดีตมือกู้ระเบิดเล่าและว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานต่างทราบปัญหากันดี เคยทำรายงานข้อเท็จจริงเสนอผู้บังคับบัญชาหลายครั้งแต่ไร้เสียงตอบเสมือนขว้างหินลงบ่อน้ำ

ขณะที่อดีตข้าราชการมหาดไทย ตลอดชีวิตรับราชการวนเวียนอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ ทำหน้าที่หาข่าวและสร้างมวลชนบอกว่า หากจะแก้ปัญหากันจริงทำได้ไม่อยาก เพียงแต่ทุกหน่วยคัดบุคลากรที่มีความตั้งใจจริงๆมีอุดมการณ์ ที่สำคัญต้องใจกว้าง นั่งบัญชาหน่วยแล้วทำงานที่สอดประสานกันแบบลดอคติไม่ตีกรอบว่าหน่วยงานข้าใครอย่าแตะ เชื่อว่าเป้าหมายจะบรรลุแน่นอน

“แต่ทุกวันนี้รวมถึงในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครอง หน่วยข่าว หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ต่างทำงานกับแบบต่างฝ่ายต่างทำ พอเกิดเหตุมานั่งประชุมแทบจะไม่ได้สาระอะไรมากนัก เว้นแต่ในที่ประชุม ประธานฯมีความเด็ดขาด รู้ปัญหาถึงเหตุที่เกิดจริงๆถึงจะมีความคืบหน้า”อดีตข้าราชการฯระบุและว่า หน่วยข่าวที่มาจากทหารบางคนเพิ่งจะทำหน้าที่สืบข่าวในพื้นที่ ด้วยความกระสันอยากจะสร้างผลงานให้นายได้เห็น จะไล่บี้ฝ่ายปกครองในพื้นที่ให้หาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ส่งให้ บ่อยครั้งที่หน่วยข่าวมือใหม่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองวางยา การข่าวเลยผิดพลาด

อดีตข้าราชการฯบอกอีกว่านอกจากคัดบุคลากรที่มีอุดมการณ์แล้วอายุราชการต้องเหลืออย่างน้อย 10 ปี และให้อยู่ต่อเนื่องจนเกษียณอายุโดยเฉพาะฝ่ายปกครอง จากประสบการณ์ที่อยู่ในพื้นที่สร้างมวลชนและหาข่าวมายาวนาน สร้างสายสายข่าวไว้อยากหลากหลาย แต่พอเกษียณอายุ ปรากฏว่าสายข่าววางไว้ถูกเจ้าหน้าที่ที่มารับงานต่อรวมถึงฝ่ายข่าวทหารบางคนมองว่าสายข่าวคือผู้ก่อความไม่สงบหลายคนต้องหนีออกนอกพื้นที่ บางคนต้องพบจุดจบแบบน่ากังขา กลายจุดอ่อนที่คนในพื้นที่ไม่กล้าที่จะเป็นสายข่าวให้

“นี่คือจุดอ่อนที่กลายเป็นปัญหานำไปสู่ความขัดแย้ง ชาวบ้านในพื้นที่ขาดความไว้วางใจ ทำลายโอกาสที่จะใช้งานการข่าวในการแก้ปัญหา ซึ่งปัญหาแบบนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นการจงใจให้เกิดเพื่อให้ไฟใต้คุโชนไปเรื่อยๆ หรือเป็นความอ่อนด้อยของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ”อดีตข้าราชการฯสันนิษฐาน

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นการบอกเล่าของอดีตตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ลงมือปฏิบัติการจริงในพื้นที่ตลอดเวลา 20 ปีนับแต่โจรหยามเกียรติทหารบุกค่ายปล้นปืนเมื่อปี 2547

 ขอยกข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง จากอดีตนายพันที่พรรคพวกดึงตัวไปช่วยงานข่าวเพื่อให้ได้รับประโยชน์หลายทางก่อนเกษียณเล่าให้ว่า บทบาทการข่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.)ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นกำลังหลักนายทหารที่จะไปประจำการต้องมีเส้นสาย แต่จะถูกผลัดเปลี่ยนเมื่ออำนาจเปลี่ยนมือ โดยผู้มีอำนาจจะดึงพรรคพวก ทั้งจากมณฑลทหารบก กองทัพภาค หรือจากกองทัพบก ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสำนักงานกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธรแบบไม่ต้องไม่เสี่ยงภัย

“มีนายทหารหลายระดับตั้งแต่นายสิบยันนายพล มีค่าตอบแทน อาทิ ระดับ พ.อ.จะมีค่าตอบแทนเดือนละ 2,500 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 270 บาท  รวมแล้วตกเดือนละเกือบ 10,000 บาท เป็นรายได้พิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน ทหารบางคนที่ถูกดึงไปจะเหลืออายุราชเพียง 1 ปี”อดีตทหารระบุพร้อมเล่าถึงวิธีการทำงานว่า นายทหารเหล่านี้จะมีหน้าที่วิเคราะห์ข่าวจากหน่วยข่าวในพื้นที่รายงานเข้าไปรวมถึงข่าวจากสื่อมวลชนและสื่อโซเชียล  ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ทุกวันๆละ 2 รอบ เช้ากับเย็น มีนายทหารระดับสูงเป็นประธานในการประชุม  ถ้าดูผิวเผินจะพบว่ากอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ขยันทำงานเพราะประชุมเช้าเย็น แต่พอเทียบผลงานถือว่าล้มเหลว เพราะถ้ามืออาชีพจริงเหตุการณ์ความสงบในคืนวันที่ 22 มีนาคม จำนวน 44 จุดต้องไม่เกิดขึ้นและไม่เกิดต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้

หากนำคำบอกเล่าของอดีตทหารกับอดีตเจ้าหน้าที่ปกครองมาผูกโยงแล้ว พอจะเห็นภาพว่าทำไมเกิดเหตุแล้วมักจะมีเสียงชี้แจงจากทหารว่าแจ้งเตือนแล้วแต่ไม่ทราบว่าคนร้ายจะก่อเหตุจุดไหนให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง

 ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ระดับนำทั้งหลายมักจะไม่ได้ยิน จริงเท็จประการบรรดาบิ๊กๆที่เกี่ยวข้องลองพิสูจน์ทราบดู !!!

 ติดตาม(ตอนหน้า)จะนำเสนอว่าทำไมข้าราชการบางกลุ่มขออยู่ในพื้นที่รวมถึงการรักษาความปลอดภัยแบบหลวมๆ