รรท.รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อนงานพิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง ยกระดับกระบวนการคัดกรองบุคคลกลุ่มเสี่ยงเหยื่อค้ามนุษย์
วันนี้ ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เปิดเผยว่า ตามนโยบายรัฐบาล ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว และภาคประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ พร้อมกับการนำประเทศไทยไปสู่ระดับ Tier 1 โดยมุ่งหวังให้ ตร. มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้นำนโยบายรัฐบาล มาสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) และมอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.รอง ผบ.ตร.(มค) เป็น ผอ.ศพดส.ตร. เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว
พล.ต.ท.ประจวบฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกระบวนการคัดกรองบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ณ ฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าและฝ่ายพิธีการเข้าเมือง ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาเข้า (โซน 1) และฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสารขาออก (โซน 2) ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จว.สมุทรปราการ โดยมี ผู้แทน บก.ตม.2 และ ผกก.ในสังกัด ที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้าร่วม โดยได้กำชับให้ยึดถือขั้นตอนการปฏิบัติตามกลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ NRM (National Referral Mechanism) ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (Victim-Centered Approach) คำนึงถึงบาดแผลทางใจของผู้เสียหาย(Trauma Informed Care) และเน้นย้ำไม่ให้เจ้าหน้าที่ทุกนาย เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ผิดกฎหมายโดยเด็ดขาด
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า พฤติกรรมที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ที่อาจพบได้ในสนามบิน มีหลายประการ เช่น การถูกหลอกลวงไปทำงาน การถูกหลอกลวงไปค้าประเวณี การเดินทางเข้ามาเป็นขอทานในประเทศไทย การถูกหลอกลวงโดยแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ การถูกหลอกลวงเรียกค่าไถ่เสมือนหรือถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อเรียกค่าไถ่โดยตรง โดยมีกระบวนการขึ้น Watch List และควบคุมแรงงานไทยที่เคยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ คือ กต.ส่งข้อมูลแรงงานไทยที่เคยขอความช่วยเหลือกลับประเทศไทย เนื่องจากตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ให้กับ สตม. ตรวจสอบข้อมูลเปรียบเทียบกับข้อมูลผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ เมื่อพบว่าเคยเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์มาก่อน จะดำเนินการขึ้น Watch List เมื่อฝ่ายตรวจคนเข้าเมืองขาออก หรือด่าน ตม.ทอ.พบบุคคลตาม Watch List จะแจ้ง ฝ่ายสืบสวน ด่าน ตม.ทอ. นั้นๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานทำการคัดกรอง ขั้นตอนของกระบวนการคัดกรองต่างๆ เป็นไปตามขั้นตอนที่เข้มงวด โดยมีจุดประสงค์ในการแก้ไขปัญหา เป็นทางผ่านของกลุ่มบุคคลที่จะเดินทางออกไปยังประเทศที่สาม ที่จะไปประกอบอาชีพผิดกฎหมายหรือเข้าข่ายเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งกระบวนการคัดกรองเข้า-ออกราชณาจักรอย่างเข้มงวดถูกปฏิบัติมาแล้วอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าในพื้นที่ชายแดนประเทศไทย โดยเฉพาะในจุดด่านพรมแดน อ.แม่สอด จว.แม่ฮ่องสอน ก็เป็นพื้นที่ที่พบว่าเป็นจุดทางออกยอดนิยม ของบุคคลที่ต้องการเดินทางออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งคาดว่าจะไปก่ออาชญากรรมข้ามชาติ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และการค้ายาเสพติด ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้สั่งการอย่างเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนกว่า 6,000 กิโลเมตร ที่ติดกับอีก 4 ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวคู่ขนานกับการคัดกรองเข้มงวดในพื้นที่ต้นทาง เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พล.ต.ท.ประจวบฯ รรท.รอง ผบ.ตร. กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการระดมสรรพกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทุกภาคส่วน ในการเร่งรัดปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับเด็ก สตรี ครอบครัว การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมงจะประสบผลสำเร็จ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เสริมสร้างความเสมอภาค เท่าเทียม และรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบของกฎหมาย ประชาชนและสังคมมีความสงบเรียบร้อยสืบไป