นั่งรถไฟชิลๆกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ ด้วยงบหลักพัน

5083

       การเดินทางไปเที่ยวสองประเทศ ไทย-ลาว ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แถมใช้เงินไม่เยอะอย่างที่คิด กดจองตั๋ววันนี้สามารถเดินทางด้วยการนั่งรถไฟยาวๆต่อเดียวถึง เรียกได้ว่าทันทีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.เปิดให้บริการรอบปฐมฤกษ์ กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.67 นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่ผ่านมา ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าไปจองตั๋วรถไฟกันจนเต็มทุกขบวน

     ซึ่งการจองตั๋วการรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ- เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ไป-กลับรวม 2 ขบวนต่อวัน และขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี ไปยังสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) 2 ขบวนต่อวัน คือ ขบวนรถเร็วที่ 133 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ออกจากกรุงเทพฯ 21.25 น. ถึงเวียงจันทน์ 09.05 น. ของวันถัดไป,ขบวนรถเร็วที่ 134 เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ออกจากเวียงจันทน์ 18.25 น. ถึงกรุงเทพฯ 07.30 น. ของวันถัดไป , ขบวนรถธรรมดาที่ 147 อุดรธานี-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ออกจากอุดรธานี 16.00 น. ถึงเวียงจันทน์ 17.55 น. และ ขบวนรถธรรมดาที่ 148 เวียงจันทน์ (คำสะหวาด)-อุดรธานี ออกจากเวียงจันทน์ 09.35 น. ถึงอุดรธานี 11.55 น.

ซึ่งวันนี้รองเท้าแก้วอยากจะมารีวิวการนั่งรถไฟสายประวัติศาสตร์เที่ยวแรกกรุงเทพฯอภิวัฒน์-เวียงจันทน์ ซึ่งมีบวนรถเร็วที่ 133 และ 134 ประกอบด้วย รถนั่งชั้น 3 (พัดลม) ราคา 281 บาท มี 152 ที่นั่ง รถนั่งชั้น 2 (พัดลม) ราคา 414 บาท รถนั่งชั้น 2 (ปรับอากาศ) ราคา 574 บาท จำนวน 64 ที่นั่ง รถนอนชั้น 2 (ปรับอากาศ) เตียงบน 784 บาท เตียงล่าง 874 บาท จำนวน 30 ที่นั่ง สามารถจองได้สูงสุด 180 วัน ที่สถานีรถไฟทั่วประเทศ Call Center 1690 เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน D-Ticket ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ส่วนขบวนรถธรรมดาที่ 147 และ 148 จอดรับ-ส่งผู้โดยสารเฉพาะสถานีหนองคาย ค่าโดยสารจากอุดรธานีไปเวียงจันทน์ รถพัดลม 100 บาท รถปรับอากาศ 200 บาท ค่าโดยสารจากหนองคายไปเวียงจันทน์ รถพัดลม 70 บาท รถปรับอากาศ 120 บาท ซื้อได้ในวันเดินทาง

การจองตั๋วสำหรับคนไทยใช้แค่บัตรประชาชน ซึ่งรอบแรกนี้เราจองตั๋วชั้น 3 (พัดลม) ในเที่ยวขาไป กรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ ในราคา 281 บาท ไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟบางซื่อกรุงเทพอภิวัฒน์) วิธีสะดวกที่สุดสำหรับการมาสถานีคือรถไฟฟ้าใต้ MRT สถานีบางซื่อ แนะนำว่าควรเผื่อเวลาสัก 30นาที เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะเปิดให้ขึ้นไปบนชานชาลาก่อนเวลา 30 นาที จะได้มีการเข้าห้องน้ำเตรียมตัวก่อนออกเดินทาง สิ่งสำคัญคือหนังสือเดินทาง ซึ่งจะต้องใช้ในขั้นตอน ตม.ทั้งสองประเทศ

‘การเดินทางด้วยรถไฟชั้น 3 เป็นอะไรที่สนุกสุดเพราะจะได้เห็นผู้คนหลากหลายมากหน้าหลายตา ทั้งลูกเล็กเด็กแดง และที่สำคัญมักจะมีขนม ข้าวเหนียวหมูปิ้ง น้ำดื่มขึ้นมาขายบนขบวนรถ แต่ราคาก็อาจจะแพงกว่าร้านทั่วไปหน่อย ที่สำคัญเสียงรถจะดังมาก ควรมีเบาะรองนั่ง รองคอ หรือชุดหูฟัง และที่ปิดตาตอนนอนด้วยก็ดี ส่วนการนั่งท่าเดิมนานๆ แน่นอนว่าต้องมีอาการปวดหลังปวดคอบ่าไหล่ตามมา แนะนำว่าควรลุกยืนหรือเดินจะได้ผ่อนคลายมากขึ้น นั่งๆนอนๆดูโน่นนี่นั่นไปราว 10 ชั่วโมง’

ขบวนรถก็มาถึงด่าน ตม.ที่หนองคาย จุดนี้เราจะต้องลงจากรถเพื่อไปทำขั้นตอน ตม.ออกนอกประเทศ โดยต้องนำหนังสือเดินทาง หรือ หนังสือผ่านแดนชั่วคราวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E – Border Pass) ที่เจ้าหน้าที่ออกให้ ขั้นตอน ตม.นี้ใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที แล้วแต่จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางมาด้วยว่ามากหรือน้อย เมื่อเสร็จแล้วก็ไปขึ้นรถตามเดิม

จากจุดนี้นั่งรถต่อไปอีก30นาทีผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงก็มาถึง สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ซึ่งจะเจอด่าน ตม. จุดนี้ต้องกรอกใบตม.ขาเข้า พร้อมแสดงหนังสือเดินทางให้กับเจ้าหน้าที่ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอน เข้าประเทศลาวได้แล้วจ้า

ที่สถานีรถไฟเวียงจันทน์(คำสะหวาด) มีบริการให้แลกเงินกีบ และมีซิมเน็ตลาวขายด้วย มีหลายราคาให้เลือก เราซื้อ 10GB /7 วัน ราคา 120 บาท ถ้ามากหลายคนก็แชร์เน็ตกันได้นะ และจากสถานีรถไฟที่จะต่อไปตัวเมืองเวียงจันทน์ จะมีรถบัสและรถสองแถวบริการ เราเลือกนั่งรถสองแถวคนละ 80 บาท เข้าไปในตัวเมืองเวียงจันทน์ และ walk in หาที่พักที่อยู่กึ่งกลางฝั่งโขงกับตัวเมือง ซึ่งคนขับสองแถวบอกว่า ที่พักริมโขงส่วนใหญ่จะราคาแพง แนะนำว่าให้จองที่พักมาล่วงหน้าจะดีกว่า ไม่งั้นก็จะเป็นแบบผู้เขียนที่แบกเป้เดินจนขากลากเพื่อหาที่พัก ในที่สุดก็มาได้ที่ Manolom Hotel ตามคำแนะนำของอีกโรงแรมนึง จริงๆเราเดินไปที่นี่มาก่อน แต่ข้างในเงียบมากไม่มีรถและลิฟท์กดจากชั้น 1 ไม่ได้ลงได้อย่างเดียว ต้องเดินขึ้นไปชั้น 2 ถึงจะเจอกับพนักงานต้อนรับ ได้ที่พักแล้วเราก็ไม่รอช้า รีบไปหาอะไรกินง่ายๆเพราะข้าวมื้อสุดท้ายที่กินก็คือข้าวเหนียวแหนมทอดปลากรายบนรถไฟตอน5ทุ่ม

มื้อแรกที่เวียงจันทน์เราได้เฝอร้อนๆและส้มตำไก่ย่าง ร้านใกล้ๆโรงแรมที่พักต้องบอกเลยว่า อาหารที่สปป.ลาวกับไทยนั้นรสชาติไม่ต่างกัน ส้มตำรสจัดจ้าน แต่ต้องบอกแม่ครัวว่าขอไม่ใส่ผงชูรสเพราะที่นี่ดูแล้วน่าจะใส่แบบหนักมืออยู่ ต้องบอกก่อนว่าช่วงที่เราไปเป็นช่วงที่มีดรามาเรื่องค่าเงินกีบของลาวที่ค่อยข้างอ่อน เงิน1บาทไทย แลกเงินกีบได้ 720 บาท แอบกลัวว่าที่ลาวจะไม่รับเงินบาทไทย ปรากฏว่าเงินไทยใช้ได้เกือบทุกร้าน อาจจะมีบางร้านที่บอกเราว่าขอเซฟเงินกีบลาวและงดรับเงินบาท ซึ่งเราก็เข้าใจได้ และไม่ติดปัญหาอะไร เพราะได้แลกเงินกีบติดกระเป๋าไปอยู่แล้ว

หลังจากที่กินข้าวอิ่มแล้วเราก็แวะร้านคาเฟ่เล็กๆก่อนที่จะเริ่มเดินเที่ยวสำรวจนครหลวงเวียงจันทน์ แต่เดินได้ไม่นาน เราก็ต้องยอมรับกับสังขารของตัวเอง ด้วยการจ้างรถสามล้อ หรือตุ๊กๆแบบบ้านเรา ที่จะจอดรอรับผู้โดยสารอยู่ริมถนน หรือหน้าสถานที่ท่องเที่ยวแบบบ้านเรา โดยเราได้เหมา 600 บาท ให้พาเที่ยวทั่วเวียงจันทน์ ซี่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นวัดวาอาราม เช่น พระธาตุหลวง เวียงจันทน์ (Pha That Luang) หรือ พระเจดีย์โลกะจุฬามณี เป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดในลาว เป็นปูชนียสถานสำคัญมากๆ แห่งเวียงจันทน์ เรียกได้ว่าใครมาเวียงจันทน์แล้ว ไม่ได้มาไหว้พระธาตุหลวง แทบเรียกได้ว่า มาไม่ถึงเวียงจันทน์เลยทีเดียว  หรืออย่าง หอพระแก้ว (Hophakaew Museum) ที่เคยเป็นวัดสำหรับประดิษฐาน พระแก้วมรกต ในอดีต ซึ่งปัจจุบัน พระแก้วมรกต นั้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย

และที่เป็นไฮไลค์เลยก็คือ ประตูชัย หรือ ปะตูไซ (Patuxay Monument) แลนด์มาร์คที่สำคัญอีกแห่งของเวียงจันทน์ จากข้อมูลสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2500-2511 เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสดุดีวีรชนผู้ร่วมรบเพื่อประกาศเอกราชจากประเทศฝรั่งเศสค่ะ   ปะตูไซ เป็นคำประสมมาจากคำว่า “ปะตู” หมายถึง “ประตู” และ “ไซ” มาจากภาษาสันสกฤตคำว่า “ชยะ” หมายถึง “ชนะ” ซึ่งที่ประตูชัย เราได้พบกับ Getsunova ศิลปินนักร้องไทย ที่มาถ่ายทำรายการอยู่พอดี แล้วก็มีสาว สปป.ลาว ที่มาเที่ยวและดูเหมือนน้องจะชื่นชอบวงนี้มาก ด้วยความที่เป็นติ่งเหมือนกัน จึงเข้าใจความรู้สึกดีว่าการได้เจอศิลปินที่ชอบอยากจะเข้าไปคุยและถ่ายรูปด้วย ซึ่งน้องคนนี้ถือว่าโชคดีมากที่ ศิลปินวง Getsunova ก็ต้องการสุ่มหาแฟนคลับชาวลาวให้มาร่วมเล่นกิจกรรมด้วย และเราก็ช่วยเต็มที่ด้วยการบอกกับทีมงานน้องเป็นแฟนคลับและอยากร่วมเล่นเกมส์ด้วยทำให้น้องได้ใกล้ชิดกับศิลปินที่ชอบและถ่ายรูปด้วย เป็นการช่วยสานฝันกันไปหนึ่งกรุบ

หลังจากที่เที่ยวทั่วแล้วคนขับรถสามล้อก็ไปส่งเราที่ตลาดนัดริมโขง ซึ่งต้องบอกว่าริมโขงเมื่อ10ปี กับปัจจุปันนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะปัจจุปันตลาดใหญ่มากและริมโขงก็เต็มไปด้วยร้านอาหารและร้านขายเครื่องดื่ม ไม่มีริมโขงที่ให้เดินสงบๆแบบแต่ก่อนแล้ว ดังนั้นจึงใช้เวลาอยู่ที่ริมโขงไม่นานมาก ก่อนที่จะเดินลัดเลาะไปที่วัดเพื่อเวียนเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ซึ่งวัดที่เราไปคือ “วัดองค์ตื้อมหาวิหาร” เป็นวัดที่สําคัญและเก่าแก่วัดหนึ่ง ในนครเวียงจันทน์ และเป็นวัดที่ประชาชนชาวลาวมีความศรัทธานับถือมาก โดยชาวบ้านที่มาก็จะแต่งกายด้วยชุดขาว นุ่งผ้าซิ่น แบบมีความเป็นเอกลักษณ์มากๆ และที่สำคัญคนหนุ่มสาวมาทำบุญกันเยอะมาก

ส่วนการเวียนเทียนก็ต่างจากวัดที่กรุงเทพฯ เพราะที่นี่จะมีพิธีสวดมนต์ไหว้พระกันอย่างพร้อมเพรียงในโบสถ์ ซึ่งใช่เวลานานมากและจะทำพิธีเวียนเทียนเป็นขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเราใช้เวลาอยู่ที่วัดตั้งแต่ 19.00-21.30น.เลยทีเดียว จากนั้นก็ไปกินอาหารตามสั่งต่อด้วยโรตี และกลับที่พัก เตรียมตัวสำหรับกาเที่ยวชิลๆที่นครหลวงเวียงจันทน์ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งวันที่สองนั้นเราจะเน้นไปที่การเดินตลาด เดินห้าง และนั่งชิลๆที่คาเฟ่ ก่อนจะเดินทางกลับด้วยรถไฟ แต่ขากลับนั้นเราเลือกจองตั๋วนั่งตู้แอร์ ต้องบอกว่าประทับใจมากๆ ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้นอดใจรอกันก่อนน๊าาาาา

By รองเท้าแก้ว