“วราวุธ – ก.พม.” ร่วมฉลองร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวุฒิสภา คุ้มครองสิทธิมนุษยชนระดับสากล ย้ำเป็นวันประวัติศาสตร์สังคมไทย
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 เวลา 17.00 น. ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงรับรองเพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม และมอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ประธานในงาน เนื่องในโอกาสที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านวุฒิสภา โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวแสดงความยินดี ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. พร้อมคณะผู้บริหาร เอกอัครราชทูตและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและเอกชนด้านความหลากหลายทางเพศ เข้าร่วมงาน
นายวราวุธ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทย ตนขอชื่นชมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา พรรคการเมือง สถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมและพี่น้องประชาชน ที่ได้ร่วมกันผลักดันจนกระทั่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้ผ่านขั้นตอนต่าง ๆ และในวันนี้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาแล้ว ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกสถานะ มีสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองให้มีความเสมอภาคอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งประเทศไทยมีความก้าวหน้าสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นับตั้งแต่พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 เป็นต้นมา จนนำมาสู่ความสำเร็จในวันนี้
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามของเอเชียถัดจากไต้หวันและเนปาล และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่พวกเราทุกคนทุกเพศควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นความภาคภูมิใจของสังคมไทยที่ร่วมกันผลักดันไปสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมและเคารพในความหลากหลาย เพื่อรองรับให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง กฎหมายสมรสเท่าเทียม นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายแล้ว คู่สมรสยังมีสิทธิและประโยชน์ครอบคลุมทุกมิติ เช่น สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต สิทธิรับบุตรบุญธรรม สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย สิทธิจัดการศพ สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิของคู่สมรสที่มีสิทธิในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสในการกู้ร่วมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในฐานะคู่สมรส
นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า จากการดำเนินการเพื่อสังคมแห่งความเท่าเทียมในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการยอมรับในสังคมไทยเท่านั้น ยังเป็นการยอมรับในสังคมโลกเป็นภาพลักษณ์ที่งดงามของประเทศไทยในการเสริมสร้างความเสมอภาค รัฐบาลพร้อมเดินหน้านำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยในการเป็น Pride Friendly Destination อันเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรในทุกด้านรวมถึงการท่องเที่ยวที่ประเทศไทย และคนไทยพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกอย่างอบอุ่นและเท่าเทียม โอกาสนี้ ตนขอแสดงความยินดีและขอร่วมเฉลิมฉลองวันแห่งความภาคภูมิใจในครั้งนี้ ซึ่งตนตระหนักดีว่าพี่น้องภาคประชาสังคม โดยเฉพาะพี่น้องชาว LGBTQ+ ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานและอดทน พวกเรารู้กันดีว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย และในช่วงเทศกาล Pride Month ตนเห็นพี่น้องคู่รัก LGBTQ+ หลายคู่เฝ้ารอกฎหมายฉบับนี้ ด้วยความหวังที่จะได้ดูแลกันและกันหลายคู่พร้อมจดทะเบียนทันทีเมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้
นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพร้อมทำงานร่วมกับทุกคน พร้อมรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ จากทุกฝ่าย เพื่อร่วมผลักดันและสร้างความรู้ความเข้าใจให้การบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีประสิทธิภาพ และพร้อมผลักดันสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ของบุคคลทุกเพศให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เพราะรัฐบาลเชื่อมั่นว่าทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และ LGBTQ+ ทุกคนต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่อยากทำเป็นในสิ่งที่อยากเป็น และทุกคนมีคุณค่า และควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศดังกล่าวให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ความสำเร็จของกฎหมายสมรสเท่าเทียมในวันนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่าทุกภาคส่วน พร้อมที่จะร่วมกันส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างจริงจัง และรัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรากฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ พร้อมทั้งสนับสนุนทุกกิจกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Pride 2030 ต่อไป