พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางเยือนราชอาณาจักรภูฏานอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเดินทางเยือนภูฏานอย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป็นการตอบรับคำเชิญของดาโช เชริง โตบเกย์ (Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีภูฏาน เมื่อครั้งเยือนไทยและเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีจะใช้โอกาสนี้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-ภูฏาน ให้มีความแน่นแฟ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว สาธารณสุข และการพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กำหนดการเยือนราชอาณาจักรภูฏาน และภารกิจสำคัญของนายกรัฐมนตรี โดยสรุปดังนี้ วันที่ 19 กรกฎาคม 2561 เวลา 07.55 น. นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะเดินทางออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเดินทางถึงท่าอากาศยานพาโร (Paro Airport) เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ในเวลา 10.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (เวลาที่เมืองพาโรช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 1 ชั่วโมง) เมื่อเดินทางถึงนายกรัฐมนตรีจะเดินต่อไปยังไปยังพระราชวังทาชิโช (Tashichhodzong) โดยขบวนเกียรติยศแบบพื้นเมือง (Chipdrel) เพื่อเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (His Majesty King Jigme Khesar Namgyel Wangchuck, the Fifth Druk Gyalpo) สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรภูฎาน ณ พระราชวังทาชิโช
ช่วงบ่าย เวลา 16.45 น. นายกรัฐมนตรีพบหารือกับนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน ณ สำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน ภายในอาคารรัฐสภา (Gyalyong Tshokhang) ช่วงค่ำในวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี และคณะ ณ อาคารจัดเลี้ยง (Royal Banquet Hall) สำนักนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน
วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีและภริยาเดินทางไปยังเจดีย์อนุสรณ์สถานแห่งชาติ (National Memorial Chorten) เพื่อประกอบพิธีจุดตะเกียงตามธรรมเนียมพื้นเมือง และเยี่ยมชมร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Gewog One Product : OGOP) ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทยในเวลา 16.00 น. และเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลา 21.50 น.
อนึ่ง ไทยและราชอาณาจักรภูฎานสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน รวมทั้งยังมีความเชื่อมโยงทางพุทธศาสนา สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์เป็นจุดเชื่อมโยงจิตใจของประชาชนทั้งสองประเทศด้วย ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่อยู่ในบริบทของความร่วมมือทางวิชาการ โดยภูฏานมองไทยเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness – GNH) ของภูฏาน สำหรับโครงการความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โครงการผลิตภัณฑ์ OGOP (One Gewog One Product) ของภูฏาน และโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบทางการเกษตรในพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Chimipang Frontline Agriculture Demonstration and Training Project) ณ เมืองพูนาคา ซึ่งได้น้อมนำหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เป็นต้นแบบ สำหรับการออกแบบโครงการด้านระบบชลประทานและการบริหารจัดการน้ำสำหรับโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ฯ ด้วย