ว่ากันว่าก่อนจะนับถือศรัทธาสิ่งใดควรรู้ลงไปให้ลึกแล้วค่อยมาคิดพิจาราณาด้วยสติ อ่านสนุกแบบมีทั้งศรัทธาและพาณิชย์ไปกับ คอลัมน์พระบ้าน by ต้นคนชอบพระ
“บุคคลไม่ควรขอสิ่งที่รู้ว่าเป็นที่รักของเขา
อนึ่ง เพราะขอเกินไปย่อมเป็นที่เกลียดชัง”
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์ในตระกูลมั่งคั่งมี ทรัพย์สมบัติมากตระกูลหนึ่ง ท่านมีน้องชายอยู่คนหนึ่งรักกันมาก ต่อมาเมื่อ มารดาบิดาเสียชีวิตแล้ว พราหมณ์สองพี่น้องก็พากันสละทรัพย์สมบัติ ออกบวชเป็นฤาษีบำเพ็ญพรตอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฤาษีพี่ชายอยู่ทางทิศเหนือของแม่น้ำ ส่วนฤาษีน้องชายอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำ
อยู่มาวันหนึ่ง พญานาคมณิกัฏฐะได้แปลงร่างเป็นชายหนุ่มเที่ยวเล่นไป ตามฝั่งแม่น้ำคงคา ผ่านไปถึงอาศรมของฤาษีคนน้องจึงแวะเข้าไปสนทนา ปราศรัยด้วยจนเกิดความสนิทสนมคุ้นเคยชอบพอกันกับฤาษีผู้น้องนั้น จึงแวะมาเยี่ยมเยือนทุกวัน แต่พ่อนาคหนุ่มก็มีนิสัยแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งคือหลังจากคุยเสร็จก่อนจะกลับ ก็จะคืนร่างเป็น พญานาคเอาขนดหางตะหวัดรัดรอบฤาษีแผ่พังพานไว้เหนือหัวของฤาษี อยู่แบบนั้นสักพักหนึ่งแล้วค่อยคลายร่างออกไหว้ฤาษีแล้ว จึงกลับนาคพิภพ เป็นเช่นนี้ประจำ
ฝ่ายฤาษีนั้นทุกครั้งที่ถูกรัดตัวเกิดความกลัวสิ คงประมาณนึกในใจว่าเนื้อเรากินไม่อร่อยหรอกน้าอย่าเขมือบเค้าเลยจึงกินไม่ได้นอนไม่หลับจน ร่างกายซูบซีดผ่ายผอมลงทุกวัน วันหนึ่ง ท่านได้แวะไปหาฤาษีคนพี่ชาย เล่าเรื่องให้ฟังแล้วปรับทุกข์กับพี่ชายว่า ” ผมไม่อยากให้พญานาคมาหาผมเลย พี่ช่วยผมหน่อยซิ”
พี่ชายถามว่า “ พญานาคเวลามา มีเครื่องประดับอะไรไหม ?”
” มีขอรับประดับแก้วมณีมาครับพี่” ท่านตอบพี่ชาย ฤาษีพี่ชายจึงแนะนำว่า “คราวหน้าพอพญานาคมาถึงอาศรมของท่าน ยังไม่ทันได้ไหว้ ท่านก็ขอแก้วมณีของมันเลย มันก็จะหนีไป วันที่สองพอมันมาถึงประตูอาศรม ก็เอ่ยปากขอแก้วมณีของมันอีก พอถึงวันที่สาม ให้ไปยืนดักรอที่ฝั่งแม่น้ำ พอมันโผล่หัวขึ้นจากฝั่งแม่น้ำเท่านั้น ท่านก็เอ่ยปากขอแก้วมณีอีก ทีนี้แหละรับรองมันก็จะไม่มารบกวนท่านอีกเลย “
ฤาษีผู้น้องได้ทำตามนั้น จนในวันที่ 3 พญานาคขณะยืนอยู่ในน้ำเมื่อถูกฤาษี ขอแก้วมณีอีก จึงพูดว่า ” ท่านฤาษี ข้าวและน้ำอันไพบูลย์ยิ่งมีแก่ข้าพเจ้าก็ เพราะแก้วมณีดวงนี้ ข้าพเจ้าจักให้แก้วมณีแก่ท่านได้อย่างไร ท่านก็ยิ่งขอ หนักขึ้น ต่อแต่นี้ไปข้าพเจ้าจักไม่มาอาศรมของท่านอีกแล้วละ เมื่อท่านขอ แก้วมณีดวงนี้ทำให้ข้าพเจ้าหวาดเสียวเหมือนชายหนุ่มถือดาบอันคมกริบรอฟันคอข้าพเจ้า “
กล่าวจบนาคหนุ่มก็เผ่นแน่บดำน้ำลงไปนาคพิภพไม่กลับมาที่อาศรมอีกเลยฝ่ายฤาษี เมื่อพญานาคไปแล้วไม่มาหาอีกทีนี้ก็เหงาสิ กลับคิดถึง เกิดความเศร้าเสียใจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จึงยิ่งซูบผอมลงไปมากกว่าเดิมอีก หลายวันต่อมาฤาษีพี่ชายอยากจะรู้เรื่อง จึงแวะมาที่อาศรมน้องชาย เมื่อเห็นน้องชายในสภาพที่โทรมกว่าเดิมก็ยิ่งตกใจจึงถามถึงสาเหตุ ฤาษีน้องชายจึงตอบเป็นคาถาว่า “บุคคลไม่ควรขอสิ่งที่รู้ว่าเป็นที่รักของเขา
อนึ่ง เพราะขอเกินไปย่อมเป็นที่เกลียดชังนาคราชถูกฤาษีขอแก้วมณีที่สำคัญดั่งชีวิต จึงไม่หวนกลับมาให้ฤาษีเห็นอีกเลย “ฤาษีพี่ชายก็ได้ปลอบน้องชายให้หายเศร้าเสียใจจากนั้นจึงกลับอาศรมของตน แล้วตั้งมั่นบำเพ็ญฌานสมาบัติจนทั่งคู่ได้ไปเกิดในพรหมโลกในที่สุด
นิทานธรรมเรื่องนี้อยู่ใน มณีกัณฐชาดก ซึ่งเหตุเกิดจากในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่อัคคาฬวเจดีย์เมืองอาฬวี ทรงปรารภ ถึงการที่ภิกษุชาวเมืองอาฬวีพากันสร้างกุฏิด้วยการเที่ยวขอแบบไม่มีขีดจำกัด ขอไปเรื่อย เป็นเหตุให้ชาวเมืองอาฬวีเดือดร้อนเห็นพระภิกษุที่ไหนก็กลัวหลบหน้าไปหมด พระองค์จึงตรัสติเตียนพวกภิกษุว่า ” ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการ ขอ อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้พวกนาคในนาคภิภพ ก็ไม่ชอบใจ “ แล้วทรงนำ อดีตนิทานมาสาธก สอนเหล่าสาวกดังที่กล่าวมาข้างต้น
(รูปพญานาค)
จากนิทานชาดกเราจะพบว่าเหล่าบรรดาพญางูใหญ่สายเทพทั้งหลายมีความผูกพันธ์กับคนแถบเอเชียมาช้านานโดยเฉพาะแถบลุ่มแม่น้ำโขงที่มีตำนานเล่าขานมามากมายเกี่ยวกับพญางูใหญ่ที่เรียกขานกันว่า พญานาค ผู้เป็นเทพนักกษัตรประจำปีมะโรงฝั่งลุ่มแม่น้ำโขง และเจ้าพระยา โดย ว่ากันว่าเผ่าพงษ์วงนาคนั้น ตามตำนานเล่าขาน มีการจะแบ่งประเภทของนาคออกเป็น 4 ตะกูลดังนี้
(1) ตระกูลวิรูปักษ์ เป็นนาคที่มีผิวกายเป็นสีทอง เป็นนาคชั้นสูงสุด ถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ คือ การเกิดขึ้นเอง เกิดแล้ว โตเลย มากด้วยอิทธิฤทธิ์และบุญบารมี มักถูกจัดอยู่ในชั้นเทพ อาศัยอยู่ในทิพย์วิมาน คอยปกครอง เหล่าพญานาคทั้งหมด ต้นตระกูลคือ “ท้าววิรูปักษ์” ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่มหาราชที่ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ด้านทิศตะวันตก พญานาคในตระกูลนี้ที่รู้จักกันดี อาทิ พญาสุวรรณนาคราช พญามุจลินท์นาคราช
(2)ตระกูลเอราปถ ตระกูลที่นาคมีผิวกายเป็นสีเขียว ถือพญานาคชั้นสูง ถือกำเนิดหลายแบบมีทั้งแบบโอปปาติกะ หรือแบบอัณฑะ ชะ คือ กำเนิดจากฟองไข่ มีขนาดใหญ่โตใกล้เคียงกับพญานาคตระกูลสีทอง อาศัยอยู่เมืองบาดาลไม่ลึกมาก เป็นตระกูลที่พบได้มากที่สุดและใกล้ชิดมนุษย์มากที่สุด ชอบขึ้นมาเที่ยวบนโลกมนุษย์ จนสร้างตำนานมากมายกับเหล่ามนุษย์ และหากบำเพ็ญเพียรบารมีจนแกร่งกล้า ก็จนสามารถแผ่เศียรได้ถึง 9 เศียรได้ ก็จะขึ้นเป็นพญานาคชั้นปกครองได้เช่นกัน(ประมาณว่าบรรลุขั้นพลังขั้นสูงสุด) พญานาคในตระกูลนี้ที่รู้จักกันดี คือ พญาศรีสุทโธนาคราชแห่ง วังนาคินทร์คำชะโนด
(3)ตระกูลฉัพพยาปุตตะ ตระกูลนาคที่มีผิวกาย หรือเกล็ดเป็นสีรุ้ง ส่วนใหญ่ถือกำเนิดแบบชลาพุช คือกำเนิดจาก ครรภ์ อาศัยอยู่ในบาดาลหรือป่าลึก มีอิทธิฤทธิ์มาก แต่พบได้ยาก เพราะมักอาศัยอยู่ในที่ลึกลับ
(4)ตระกูลกัณหาโคตะมะ ตระกูลนาคที่มีผิวกาย หรือเกล็ดเป็นสีดำนิล ถือกำเนิดแบบสังเสทชะ คือ เกิดจากเหงื่อ ไคล และสิ่งหมักหมมต่างๆ หรือ แบบอัณฑชะคือเกิดจากไข่ก็ได้เหมือนกัน มักมีร่างกายกำยำบึกบึน มีหน้าที่เฝ้าสมบัติ ของเมืองบาดาล และแม้จะเกิดในตระกูลที่ต่ำกว่าตระกูลอื่น แต่หากหมั่นบำเพ็ญเพียรจนมากญาณบารมี ก็ สามารถเป็นพญานาคชั้นปกครองได้เช่นกัน พญานาคในตระกูลนี้ที่รู้จักกันดี คือ องค์ดำแสนสิริจันทรา นาคราช กษัตริย์นาคราชยอดนักรบแห่งเมืองบาดาล
(รูปพญานาค)
สำหรับพญานาคที่อยู่ในพิภพบาดาลอันเป็นมิติเร้นนั้น ตามตำนานกล่าวว่า มีพญานาคกษัตริย์ปกครองอยู่ 9 พระองค์ ดังนี้
(1) พญาอนันตนาคราช เป็นเจ้าแห่งบาดาล ที่มี 1,000 เศียร เป็นราชาแห่งนาคทั้งปวงในเกษียรสมุทร มักจะแปลง ร่างเป็นมนุษย์ รูปร่างหล่อเหลา มักตามเสด็จองค์พระนารายณ์มหาเทพเสมอ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เศษะ หรือ เศษนาค เป็น พญานาคที่ขดร่างเป็นแท่นบัลลังก์ เพื่อให้พระนารายณ์บรรทม เป็นที่มาของ “พระนารายณ์บรรทมสินธุ์”
(2) พญามุจลินท์นาคราช เป็นพญานาคมีอานุภาพมาก อาศัยอยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นไม้มุจลินท์ เผ่าพันธุ์ของ พญามุจลินท์นาคราช เป็น พญานาค 7 เศียร ซึ่งสืบสายพันธุ์มาจนถึงพญาศรีสัตตนาคราช (นาคาธิบดีสีสัตตนาคบาดาล) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคที่ฝั่งลาว
(3)พญาภุชงค์นาคราช เป็นพญานาคที่มีผิวกายเป็นสีเทา มีหงอนและเศียรสีแดง มีเศียร 1 เศียร เป็นเจ้าแห่งวิสุทธิเทวา เป็นพญานาคราชประจำองค์พระศิวะมหาเทพ หรือพระอิศวร อยู่ในตระกูลฉัพพะยาปุตตะ
(4)พญาศรีสุทโธนาคราช มีผิวกายสีเขียวมรกต มีเศียรสีทอง 9 เศียร ผู้ครองเมืองหนองกระแสทางฝั่งไทย และมี บริวาร 5,000 ตัว เป็นพญานาคที่ชอบรักษาศีลปฏิบัติธรรม ตามตำนานเล่าว่ามักจะมาที่วัดพระธาตุพนมเสมอ เป็นเพื่อนกันกับ พญาศรีสัตตนาคราช ที่ปกครองอยู่ทางฝั่งลาว แต่ต่อมาเกิดขัดใจด้วยสาเหตุการแบ่งทรัพยากรจนเกิดการสู้รบกันนานถึง 7 ปี พระอินทร์จึงยุติสงครามด้วยการให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำแข่งกัน พญาศรีสุทโธนาคราช จึงพา บริวารไพร่พลอพยพออกจากหนองกระแส สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออก ของหนองกระแส เมื่อถึงตรง ไหนที่เป็นภูเขาก็คดโค้งไปตามภูเขา หรืออาจจะลอดภูเขาบ้างตามความยากง่าย ในการสร้าง พญาศรีสุทโธ นาคราชเป็นคนใจร้อน แม่น้ำนี้จึงคดโค้ง เรียกชื่อว่า “แม่น้ำโขง”
(5)พญาศรีสัตตนาคราช มีความเชื่อว่าเป็นกษัตริย์แห่งพญานาคแม่น้ำโขงด้านฝั่งลาว มีเศียร 7 เศียร เป็นตระกูลพญานาคเก่าแกสืบมาแต่ครั้งพุทธกาล มีความใกล้ชิดพระพุทธองค์และพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นต้นตระกูลแห่ง พญานาคทั้งหมด มีบริวาร 5,000 ตัว เป็นพญานาคที่ชอบรักษาศีลปฏิบัติธรรม และมาที่วัดพระธาตุพนมเสมอ จนรู้จักเป็นเพื่อนกันกับพญาศรีสุทโธนาคราชที่ปกครองอยู่ทางฝั่งไทย
(6) พญาเพชรภัทรนาคราช หรือพญาเกล็ดแก้วนาคราช เป็นพญานาคที่มีผิวกายสีเงินเหมือนแก้ว มีหงอนและ เศียรสีแดง มีเศียรเดียว เป็นลูกขององค์อนันตนาคราช
(7) พญานาคดำแสนศิริจันทรานาคราช เป็นพญานาคาราชตระกูลกัณหาโคตมะองค์สีดำ มีผิวกายเป็นสีดำ อายุ เก้าหมื่นปี
(8) พญายัสมัญนาคราช หรือพญายัสมันรายะนาคราช เป็นพระโอรสในพญาอนันตนาคราช และเจ้านางสร้อย แสงคีรี ทรงเป็นสหายร่วมรบกับพญาเพชรภัทรนาคราช พญาภาคินทร์นาคราช และ พญานฤบดินทร์นาคราช พญายัสมันนาคราชเจ้านั้น มีเทพเจ้าแห่งมหาสมุทรเป็นผู้ประสิทธิ์วิชาให้ จึงทำให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการรบ
(9)พญาครรตะศรีเทวานาคราช พระองค์เป็นหนึ่งในกองทัพนาคาธิบดี ทรงมีรูปร่างหน้าตางดงามปรีชา ความสามารถโดดเด่น สมเป็น ชายชาตินักรบ ทรงเก่งกาจ มีปัญญาล้ำเลิศ กายของพระองค์มีสีทองล้วน พระเศียร 9 เศียร ร่างกายกำยำ
นอกจากนี้ ยังได้แบ่งพญานาคออกเป็นตระกูลย่อยๆ อีกถึง 1,024 ชนิด คือพวกสัตว์เลื้อยคลานประเภทงู ที่เป็นงูทุกชนิดถือว่าเป็นลูกหลานของพญานาคทั้งสิ้น
(รูปเครื่องรางวัตถุมงคลพญานาค)
พญานาคในความเชื่อของไทยอยู่ในฐานะเทพเจ้าแห่งน้ำ เพราะนาคเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ จึงปรากฏความเชื่อ เรื่องนาคที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า กล่าวถึงพญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองแห่งใหม่ พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน จนเมืองนั้นมีนามว่าเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช นอกจากนี้ยังปรากฏความเชื่อ เรื่องนาคในคำเสี่ยงทายปริมาณของน้ำและฝนที่จะตกในแต่ละปี เรียกว่า “นาคให้น้ำ” จะปรากฏเห็นได้ ชัดที่สุดในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในวันพืชมงคลของแต่ละปี อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นผู้มีทรัพย์มาก พรั่งพร้อมบริบูรณ์ ความเชื่อถือ ความศรัทธาทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ถูกผสมผสานรวมเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เชื่อกันว่า หากผู้ใดบูชาพญานาคมีเครื่องรางอย่าง รูปปั้นพญานาค กำไลพญานาค แหวนหรือจี้ห้อยคอใดๆ โดยเฉพาะบ่วงนาคบาศไว้ในครอบครอง อาจมีเหตุอัศจรรย์ใจ ได้พบเจอปรากฏการณ์ที่เกี่ยวพันกับเหล่าพญานาคที่สถิตอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง สำหรับผู้เลื่อมใสศรัทธาบูชาติดตัว มักจะบอกกันเป็นเสียงเดียวว่า “บูชาแล้วขออะไรก็ได้ ทำมาหากินไม่มีอดมีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” อันนี้ก็เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล แล้วแต่ใครมีบุญสัมพันธ์กับเทพองค์ใดที่คอยซัพพอร์ตเราอยู่ครับ
เรื่องราวของเผ่าพงษ์วงค์นาคยังไม่จบเท่านี้คราวหน้าเรามาคุยกันต่อถึงนาคและความเกี่ยวพันในพุทธศาสนาของเราครับ นอกจากนี้จะแนะนำพระดีที่น่าจะมีไว้รับปีมะโรงที่จะมาถึงครับ
เขียนโดย ต้น คนชอบพระ
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก สื่อโซเซี่ยล ครับ
ปล. หากมีวัด ศาสนถาน โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯใดที่ต้องการประชาสัมพันธ์การขายวัตถุมงคลหรือบริจาคเพื่อการกุศลอย่างแท้จริง ทางคอลัม์พระบ้าน ยินดีประชาสัมพันธ์ให้ฟรีครับ
สนใจลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ติดต่อ 0818214442 ต้น