ชี้จุดอ่อนกฎแต่งตั้งนายพลกีกากี ยึดอาวุโสเข้ม หวั่นอนาคตโตแบบก้าวกระโดด ห่วงนั่งผู้นำแค่ปีเดียว-เร่งหาประโยชน์ให้ตัวเอง

44

น่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวงการสีกากี ที่การแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.)-ผู้บัญชาการ(ผบช.) ยึดกฎหมายตำรวจและกฎการแต่งตั้งอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะหลักอาวุโสที่จัดเต็มแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

จากซ้าย – แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ,ธวัชชัย ไทยเขียว และพล.ต.อ.เอก อังสนานนท ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ,พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.

    แม้แต่ตำแหน่ง ผบช.ที่ว่างอยู่ 14 ตำแหน่ง ที่สื่อสำนักต่างๆรวมบรรดาตำรวจที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด ต่างคาดหวังว่าหลังแต่งตั้งรองผบช.อาวุโสลำดับที่ 1-7 ขยับเป็นผบช.แล้วอีก 7 ตำแหน่งคงจะเน้นความรู้ความสามารถ ตามด้วยอาวุโสและตั๋วฝาก แต่พลิกความคาดหมายเพราะยึดอาวุโสถึง 6 ตำแหน่ง อีก 1 ตำแหน่ง แม้จะต้องขอมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) จัดว่าอยู่ในชั้นอาวุโสเช่นกัน

      จึงมีแต่เสียงชื่นชม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผบ.ตร. ในฐานะมือใหม่ป้ายแดงจัดทำโผนายพลใหญ่ และ ก.ตร.ทั้งคณะ  แต่ภายใต้เสียงชื่นชมก็มีเสียงสะท้อนแสดงความห่วงใยถึงอนาคตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซ่อนอยู่ โดยอดีต รอง ผบ.ตร. และผู้ช่วย ผบ.ตร. สะท้อนผ่าน”ประดู่แดง”

     อดีต รอง ผบ.ตร.บอกว่า เป็นเรื่องดีถ้ากฎกติกานี้ถูกนำมาใช้แบบต่อเนื่องยาวนาน เพราะนายตำรวจที่ขยับขึ้นหรือได้เลื่อนตำแหน่งน่าจะมาจากผลงานและอาวุโส แต่ที่ผ่านมาการแต่งตั้งโยกย้ายทุกระดับยึดหลัก ตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ จึงเกิดนายตำรวจประเภทบ่มแก๊สอยู่จำนวนมาก ขณะที่ตำรวจมีผลงานดีทั้งสืบสวนสอบสวนยังย่ำอยู่กับที่

    แต่ครั้งนี้กลับยึดหลักอาวุโสแบบเข้มข้น พวกตำรวจบ่มแก๊สที่ไปแต่งตัวรออยู่ขยับกันสบายใจเฉิบ เมื่อขยับเป็นผู้นำหน่วยไม่แน่ใจว่ามีศักยภาพพอที่จะบริหารจัดได้หรือไม่ มีตัวอย่างความล้มเหลวให้เห็นอย่างชัดเจนในห้วงไม่กี่ปีมานี้


     อดีต รอง ผบ.ตร.ให้ความเห็นอีกว่า ระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.และผบช.ขยับเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร.ยึดหลักนี้มานาน แต่ในระดับ ผบช.ควรจะยึดตามกฎหมาย 50 เปอร์เซ็นต์ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ นำนายตำรวจที่เข้าเกณฑ์มาพิจารณาโดยใช้หลักความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ หากพิจารณาแล้วศักยภาพเท่ากันยึดหลักอาวุโสมาประกอบ

   “ถ้าใช้หลักการนี้มาจับ จะได้ ผบช.ที่มีศักยภาพในการนำหน่วยและที่สำคัญจะเป็นกำลังสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในอนาคตด้วย แต่ถ้ายึดหลักอาวุโสแบบ 100 เปอร์เซ็นต์อย่างเคร่งครัดตลอดไป เท่าที่พิจารณาจากประกาศของสำนักงานกำลังพลพบว่าไม่เกิน 4-5 ปีข้างหน้า ระดับผู้บังคับการ(ผบก.)จะกระโดดขึ้นเป็นผบช.เลย เพราะนับตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป แต่ละปีจะมีระดับ รองผบช.เกษียณอายุเป็นจำนวนมาก”อดีตรอง ผบ.ตร.ระบุ

   อดีต รอง ผบ.ตร.วิเคราะห์อีกว่า การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ผบ.ตร.และ ก.ตร. อาจจะเกร็งและเกรงว่านายตำรวจที่เข้าเกณฑ์ แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งจะฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะกฎหมายตำรวจฉบับนี้บัญญัติไว้ค่อนข้างรัดกุม แต่ถ้ายังปล่อยให้การแต่งตั้งระดับผบช.และลามไปถึงแต่งตั้ง ผบก.ยังยึดหลักอาวุโสแบบเหนียวแน่น ในอนาคตสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะขาดแคลนบุคลากรที่จะขยับขึ้นเป็นผู้นำหน่วยที่มีคุณภาพแน่นอน


  “เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและปิดจุดอ่อนไม่ให้ถูกฟ้องดำเนินคดี นายกฯและผบ.ตร.ควรจะเสนอเรื่องเข้าหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหาทางออก เพราะกฎหมายฉบับนี้ คณะกรรมการที่ยกร่างส่วนใหญ่ไม่เข้าใจการทำงานละการบริหารตำรวจอย่างแท้จริง”อดีตรองผบ.ตร.ระบุ

  ขณะที่อดีต ผู้ช่วย ผบ.ตร.ให้ความเห็นในเชิงเป็นห่วงด้วยการย้อนความหลังให้ฟังว่า ในช่วงที่เป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร.ทาง ผบ.ตร.มอบหมายงานให้ดูงานให้กำกับดูแล บช.หลัก หลาย บช.ร่วมกับ รอง ผบ.ตร. ปรากฏว่า รอง ผบช.เหลืออายุราชการเพียงปีเดียวขยับเป็น ผบช.หลัก พอรับตำแหน่งไม่ถึง 1 เดือน บรรดา ผบก.จังหวัด ผบก.สืบสวนฯ และหัวหน้าโรงพัก ต่างระอาเพราะเจอคำสั่งลับให้เพิ่มยอดจาก สถานบันเทิง สถานบริการต่างๆ รวมถึงร้านค้า โรงงานอุตสาหกรรม ที่จ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน

   “เกือบทุกพื้นที่จะมีนายบ่อนเข้าไปประสาน ผบก.หรือหัวหน้าโรงพักขอเปิดบ่อนการพนัน แต่รายได้ส่งตรง ผบช.และหลังบ้าน หากโรงพักไหนไม่ตอบสนองจะโดนข้อหาอยู่ไปก็เสียของ จะหาช่องทางกล่าวโทษสั่งไปช่วยราชการแล้วจัดตำรวจในสังกัดมานั่งรักษาการแบบมีอำนาจเต็มบางยุคเก้าอี้ ผบช.หลัก ถูกมีผู้มีอำนาจตั้งราคาซื้อขายกันในราคาหลายสิบล้านบาท เมื่อได้ตำแหน่งมหกรรมถอนทุนจะบังเกิด ชาวบ้านจะเดือดร้อนกันทั่วหน้า”อดีตผู้ช่วยผบ.ตร.ระบุและว่าพฤติกรรมลักษณะนี้มิได้มีแค่ระดับ ผบช. แต่ระดับ ผบก.ที่คุมพื้นที่และหัวหน้าโรงพักที่จะเกษียณ หลายนายมีพฤติกรรมไม่ต่างกัน

    เมื่อฟังเสียงสะท้อนจากอดีตรอง ผบ.ตร.พออนุมานได้ว่ามากด้วยความห่วงใยถึงอนาคตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องขาดแคลนบุคคลากรที่เปี่ยมด้วยคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้ประชาชนศรัทธาได้  ขณะที่เสียงสะท้อนของ อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นความห่วงใยที่ไม่แตกต่างกัน เพียงเป็นข้อห่วงใยที่ไม่อยากให้ระดับ ผบช.หรือ ผบก.หรือหัวหน้าโรงพักที่จะเกษียณอายุ แสวงความร่ำรวยแบบทิ้งทวน เพราะนอกจากจะทำลายภาพลักษณ์องค์กรแล้วยังทำลายศรัทธาของประชาชนอีกด้วย

     “ประดู่แดง”หวังว่าเสียงสะท้อนนี้น่าจะเป็นข้อมูลให้ ผบ.ตร.นำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและตั้งรับกับพวกที่จะแสวงหาประโยชน์แบบทิ้งทวนก่อนเกษียณ แต่เชื่อว่าพฤติกรรมแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นในยุคที่ปลอดการเซ็งลี้เก้าอี้แน่นอน !!!