“วราวุธ” สั่ง พม. เปิดวอร์รูม ศบปภ. คอลด่วน เร่งขับเคลื่อนช่วยกลุ่มเปราะบาง น้ำท่วมหนักภาคใต้

52



วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) มอบหมายให้ นายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อน ศบปภ. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อน ศบปภ. และนางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองปลัดกระทรวง พม. ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อน ศบปภ. พร้อมด้วย ผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ



นายนิกร กล่าวว่า หลังจากที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) แล้ว เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ซึ่งได้เปิด ศบปภ. นำร่องแห่งแรกที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา โดยตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติเชิงรุก โดยมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญ คือ เป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือ ดูแล และเยียวยากลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ , เป็นศูนย์กลางในการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการให้ความช่วยเหลือฯ และเป็นศูนย์กลางในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทางสังคมเชิงรุก ตลอดจนสร้างการรับรู้แก่ทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือฯ ดังนั้น จากสถานะการฝนตกหนัก ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ในภาคใต้ นายวราวุธฯ จึงมอบให้ตนในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อน ศบปภ. เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน โดยมีการประชุมออนไลน์ผ่านห้องปฏิบัติการของกระทรวง พม. เพื่อหารือร่วมกับทีมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่ประสบเหตุด้วย



โดยจังหวัดยะลา ได้รายงานสถานการณ์ว่า ค่ำคืนจนถึงเช้าวันที่ 28 พ.ย.นี้ ฝนยังตกไม่หยุดระดับน้ำในเขตพื้นที่เทศบาลนครยะลา บางจุดระดับน้ำยังสูง แต่ยังมีเส้นทางที่สามารถสัญจรได้ เบื้องต้นได้มีการอพยพประชาชนไปอยู่ในศูนย์พักพิงของเทศบาล ซึ่งเป็นโรงเรียนเทศบาล 3 เป็นอาคาร 2 ชั้น โดยแบ่งสำหรับประชาชนทั่วไป และสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน พมจ.ยะลา ร่วมในการขนย้ายผู้ประสบภัย และเข้าไปดูแลในเรื่องของการให้ขวัญกำลังใจ ซึ่งขณะนี้ มีผู้ประสบภัยเข้าอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวดังกล่าว จำนวน 90 คน เป็นผู้สูงอายุ 50 คน ผู้ป่วยและผู้ป่วยติดเตียง 27 คน เด็กพิการ 3 คน เด็กและเยาวชน 10 คน และยังมีผู้ประสบภัยทยอยเข้าศูนย์พักพิงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติมีดังนี้ 1. จังหวัดยะลา ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ จำนวน 4 อำเภอ ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 6 แห่ง มีผู้อพยพ จำนวน 220 คน 2. จังหวัดปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติจำนวน 2 อำเภอ และตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 1 แห่ง มีผู้อพยพ จำนวน 27 คน 3. จังหวัดนราธิวาส ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ จำนวน 5 อำเภอ แต่ยังไม่ได้มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว และ 4. จังหวัดสงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 7 อำเภอ ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 2 แห่ง มีผู้อพยพจำนวน 275 คน



นายนิกร กล่าวว่า ในวันนี้เราได้มาพูดคุยบัญชาการกันในห้องวอร์รูม ของศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ (ศบปภ.) เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นงานหลักของกระทรวง พม. และเราได้ลงพื้นที่จริงกันไปแล้วเมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ไว้ว่าน้ำจะมาในช่วงนี้ ได้มีการพูดคุยกับ พม. จังหวัดในภาคใต้ที่ประสบอุทกภัยหลายจังหวัด อาทิ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และนครศรีธรรมราช ซึ่งทราบว่าทีม พม. จังหวัดต่างๆ รับมือได้ดี แต่น้ำในครั้งนี้มามากกว่าที่เราประเมินไว้ ซึ่งถือว่ารับได้เพราะเป็นไปตามแผนจากที่เราดูข้อมูลย้อนไป 4 ปี ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ดูแลเคลื่อนย้ายจากที่อยู่อาศัยเข้าศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่เปิดรองรับได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถรองรับทั้งกลุ่มเปราะบางและประชาชนทั่วไปได้ โดยพบว่าสิ่งที่ผู้ประสบภัยต้องการมากที่สุด คือ ผ้าออมสำเร็จรูปสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ นมผง และผ้าอนามัย โดยได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แต่อย่างไรก็ตามในพื้นที่ที่ไม่มี ศอ.บต. คอยสนับสนุนก็จะต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. สรุปว่า พม. สามารถรองรับสถานการณ์ได้ดี ขอชื่นชม และได้สั่งการให้รวบรวมปัญหาไว้ เพื่อเตรียมการหลังจากนี้ที่ต้องมีภารกิจเยียวยา

นายนิกร กล่าวว่า ในวันเดียวกันนี้ได้มีการประชุมศบปภ. ของกระทรวง พม. เป็นครั้งแรก เพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนการทำงาน ให้ปฏิบัติตามแผนที่กำหนด โดยถือเป็นภารกิจสำคัญใหม่ของกระทรวง พม. และรวบรวมสรุปเป็นรายงานนำเสนอรายงานให้คณะรัฐมนตรีได้ทราบ และสิ่งที่ รมว.พม. กำชับการประชุมผ่านวอร์รูม คือ แผนที่เราได้วางไว้ ให้ปฏิบัติไปตามแผน ให้รวบรวมปัญหา นำเสนอเข้ามาเพราะครั้งนี้เป็นภัยแรกที่ ศบปภ. เข้ามาขับเคลื่อนเตรียมการ ซึ่งเบื้องต้นประมวลแล้วว่าดำเนินการได้ ที่รัฐมนตรีเป็นห่วงเราก็เตรียมการรับมือได้ดี

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศบปภ. #น้ำท่วมภาคใต้