ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำร่างแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 53/2560 ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่ เพื่อทำไพรมารีโหวตและให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะใช้การทำไพรมารีโหวตแบบภาค ว่า ข่าวที่ว่าให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปยกร่างแก้ไขคำสั่งดังกล่าวเป็นความจริง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการทำไพรมารีโหวต โดยในการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้พูดถึงการทำไพรมารีโหวตไว้ว่ามีประมาณ 3-4 แนวทาง คือ
1.ยังไม่เริ่มใช้ไพรมารีโหวต
2.มีการทำไพรมารีโหวตแบบจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาล
3.การทำไพรมารีโหวตแบบภาค และ
4.หากไม่ใช้การทำไพรมารีโหวตจะใช้รูปแบบใดมารองรับแทน เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองได้มีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร
“หากไม่ทำไพรมารีโหวต ก็จะไม่มีอะไรมารองรับตรงนี้และจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องมีส่วนร่วม จึงมีการมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำแนวทางเหล่านี้ไปจัดทำร่างในทุกรูปแบบแล้วนำเสนอ กกต. พิจารณา ส่วนคสช.จะเลือกใช้รูปแบบไหนใน 4 รูปแบบดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่ คสช. จะเป็นผู้พิจารณา และจะส่งข้อพิจารณาของ คสช. ไปให้กกต.ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกแนวทางตามที่ คสช.เลือก” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุกล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจว่าจะมีการทำไพรมารีโหวตแบบภาคตามที่บางฝ่ายเข้าใจ เพราะสิ่งที่เป็นข่าวเป็นแนวทางหนึ่งที่มีการสรุปความเห็นไปให้กกต. เท่านั้น ขอย้ำว่าแนวทางเกี่ยวกับการทำไพรมารีโหวตนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กกต. คสช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการกฤษฎีกา กำลังรวบรวมประมวลผล ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาในการพิจารณา ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. แต่คิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน
เมื่อถามว่า มีการคาดการว่าจะคลายล็อกให้กับพรรคการเมืองได้ภายในเดือนส.ค.หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ และยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อใด
เมื่อถามถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจึงยังไม่มีการคลายล็อกให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมหรือทำกิจกรรมได้ในช่วง 90 วันระหว่างรอการโปรดเกล้า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ทั้งที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง นายวิษณุ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่สามารถคลายล็อกให้พรรคการเมืองในช่วง 90 วัน แรกได้เพราะยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ลงมา แต่ถ้าพรรคการเมืองใดมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมอะไรก็ให้ไปขออนุญาตจาก คสช. เป็นรายกรณี ไม่เช่นนั้นอาจมีสิ่งสอดแทรกจากบางพรรคการเมือง และอาจจะส่งผลกระทบกับ 90 วันช่วงที่สอง เป็นช่วงที่รอการบังคับใช้จริงหลังจากมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ลงมาแล้ว จึงขออย่าไปทำอะไรให้เกิดปัญหาขึ้นมา เราเพียงแค่ป้องกันปัญหาเอาไว้เท่านั้นเอง
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามตอนนี้ก็มีพรรคการเมืองไปขออนุญาตจาก คสช.อยู่ทุกวัน ทั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่อธิบายให้กับประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ยาก แต่ถือว่ามีความจำเป็นที่ยังไม่สามารถคลายล็อกให้ได้ และแม้จะเป็นการดำเนินการงานคนละส่วนกัน ระหว่างกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. แต่เราคิดว่าไม่มีปัญหาและอุปสรรคอะไร