นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ คสช.ยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง หลังจากรับทราบอุปสรรคต่างๆ จากการหารือร่วมกันกับพรรคการเมืองไปแล้ว ว่า ทาง คสช.บอกว่าจะรอไปถึงเดือนกันยายน ซึ่งพรรคการเมืองก็ต้องรอต่อไป
ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การจะสนับสนุนใครเป็นสิทธิ แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมาย หากมีอะไรที่ผิดกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องตรวจสอบพฤติกรรมและการกระทำต่าง ๆ ว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ ด้วยความอิสระ เพราะถ้าไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาความเป็นอิสระได้ก็จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการเมืองในอนาคต ขณะที่ผู้มีอำนาจต้องช่วยกันสนับสนุนความเป็นอิสระขององค์กรเหล่านี้ เพราะถ้าจะปฏิรูปการเมืองและประเทศแล้วเริ่มต้นโดยที่องค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ ทุกอย่างก็เดินไม่ได้
ส่วนกรอบปฏิทินเลือกตั้งที่ออกมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปถึงต้นเดือนพฤษภาคมนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย แต่จะเดินตามกรอบนี้ต้องปลดล็อกพรรคการเมืองก่อน ซึ่งจากการประชุมครั้งที่แล้ว ทาง คสช.ก็พยายามจะบอกว่า 90 วันโดยประมาณในช่วงที่มีการทูลเกล้าฯ ถวายกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งสองฉบับจะยังไม่มีการดำเนินการอะไร แต่ความจริงการดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแต่อย่างใด
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ หากดำเนินการได้ก็จะช่วยให้พรรคการเมืองสามารถหาสมาชิกให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกิจการพรรคการเมืองได้มากขึ้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อการปฏิรูป ลดอิทธิพลของการมีเจ้าของพรรคหรือคนที่ครอบงำพรรค และหากให้สมาชิกพรรคสามารถสมัครหรือรับสมาชิกได้ก็จะลดกิจกรรมทางการเมืองในช่วงต่อไปซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับช่วงที่จะมีพระราชพิธีจะเป็นผลดีมากกว่า แต่ทั้งหมดอยู่ที่ คสช.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะไม่ว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไรก็ทำได้ เพียงแต่ไม่อยากให้เป็นเพียงแค่พิธีกรรม ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คาดว่าน่าจะเกิดหลังการเลือกตั้งระดับชาติ เพราะกฎหมายยังไม่พร้อม อีกทั้งภาระของ กกต.ก็มีมาก การจะจัดเลือกตั้งทั้งสองระดับใกล้เคียงกันเป็นเรื่องยาก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงปัจจัยที่อาจจะกระทบต่อกรอบปฏิทินเลือกตั้งว่ามีเรื่องการได้ กกต.ใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยว่า แม้ยังไม่มี กกต.ใหม่ กกต.ชุดปัจจุบันก็สามารถทำหน้าที่ได้อยู่แล้วเพราะมีกฎหมายรองรับอยู่ แต่ถ้าได้ กกต.ใหม่เร็วก็จะทำงานได้ต่อเนื่องก่อนมีการเลือกตั้ง ส่วนการนำเรื่องนี้มาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจกระทบต่อกรอบเวลาเลือกตั้งจะทำให้เกิดแท็กติกยื้อเวลาในขั้นตอนการคัดเลือก กกต.ของ สนช.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ แล้วแต่ คสช.