หมดปัญหาน้ำมันแพง เปลี่ยนรถคันเก่า เป็นรถไฟฟ้าราคาย่อมเยา

ปัจจุบันราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้เกิดกระแสความต้องการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือรถ EV มากขึ้น ทางเลือกที่กำลังมาแรงในขณะนี้คือ การนำเอารถยนต์ที่เป็นเชื้อเพลิงน้ำมันเดิมไปดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้านั่นเอง

สำหรับกระแสการเปลี่ยนรถเก่ามาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขณะนี้ มีเพิ่มมากขึ้นและนอกจากรถยนต์แล้ว ปัจจุบันยังมีการเปลี่ยนรถมอเตอร์ไซค์มาเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย จากข้อมูลส่วนมากจะเป็นอู่รถรายย่อย แม้ผู้บริโภคจะเสียค่าปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นไฟฟ้า เช่นหากเป็นรถมอเตอร์ไซค์ มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 20,000 – 50,000 บาท หรือ หากเป็นรถยนต์ราคาค่าปรับเปลี่ยนจะสูงกว่าไปสู่หลักแสน

แต่ถ้ามอง ราคาน้ำมันขณะนี้เทียบต่อกิโลเมตรแพงกว่าค่าไฟ ผู้ใช้รถหลายคนจึงเห็นว่าการดัดแปลงรถจากใช้น้ำมันมาใช้ไฟฟ้าแทนนั้นคุ้มค่าแก่การลงทุนอย่างมาก

โดยวันนี้ ทางคอลัมน์ IT Talk จะมาแนะนำว่า รถ EV คืออะไรและมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

รถ EV คืออะไร
รถ EV (Electric Vehicle) คือรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% โดยรถยนต์ไฟฟ้าจะมีองค์ประกอบหลักในการทำงาน 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งขั้นตอนการทำงานของรถ EV จะเริ่มต้นจากแบตเตอรี่ที่เป็นแหล่งเก็บพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง ตัวแปลงกระแสไฟฟ้าจะดึงพลังงานจากแบตเตอรี่ไปเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ และจะส่งต่อไปยังตัวมอเตอร์เพื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์ของตัวรถให้สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้

ข้อดีของรถ EV

• ชาร์จไฟถูกกว่าเติมน้ำมัน หากขับขี่ในระยะทางที่เท่ากัน รถ EV จะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ารถใช้น้ำมัน ซึ่งทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องยนต์ อายุการใช้งาน รุ่นของรถ และพฤติกรรมในการขับขี่


• ชาร์จเองที่บ้านได้ หากติดตั้งเครื่องชาร์จไฟที่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย เราก็สามารถชาร์จไฟเองที่บ้านได้โดยไม่ต้องขับออกไปไหน


• เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รถ EV ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทำให้ตัวรถไม่สร้างมลพิษเหมือนรถที่ใช้น้ำมัน ถือว่าเป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก


• เงียบ เบา ไม่มีเสียงรบกวนจากเครื่องยนต์ เพราะรถ EV ทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้ตัวรถมีเสียงที่เบาและเงียบกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน


• มีการออกตัวและอัตราเร่งที่ดีกว่า เนื่องจากรถ EV ทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าก็ทำให้มีอัตราเร่งและการออกตัวที่ดีกว่ารถใช้น้ำมันอย่างเห็นได้ชัด

ข้อเสียของรถ EV


• จุดบริการชาร์จไฟยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าไม่ตอบโจทย์ต่อการเดินทางไกลหรือในบางสถานที่ที่ไม่มีจุดชาร์จคอยให้บริการ


• ชาร์จไฟนาน การชาร์จไฟแต่ละครั้งจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความจุของตัวแบตเตอรี่หรือรุ่นของรถ


• ราคาแพง รถ EV ในปัจจุบันยังมีราคาที่ค่อนข้างแพง เนื่องจากแบตเตอรี่มีราคาค่อนข้างสูง


• มีระยะการขับที่สั้นกว่ารถใช้น้ำมัน คนใช้รถ EV จำเป็นต้องคำนวณเส้นทางหรือระยะเวลาในการขับขี่ให้ดี ว่าพลังงงานไฟฟ้าจะเพียงพอต่อการเดินทางหรือไม่

ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความจุของตัวแบตเตอรี่ว่าสามารถเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขนาดไหน

เมื่อรู้แล้วว่าข้อดีข้อเสียของรถ EV เป็นอย่างไร ต่อไปเรามาดูแนวโน้มการพัฒนาของโครงการรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศไทยกัน

ซีอีโอ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ ผู้ผลิตและประกอบรถบรรทุก รถพ่วง รถกึ่งพ่วง รถเพื่อการขนส่งรายใหญ่ของประเทศ ผู้หันมาเปลี่ยนรถยนต์บรรทุกสันดาปสู่ระบบไฟฟ้า กล่าวถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV Conversion ไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นนวัตกรรมเชื่อมต่อโลกยานยนต์ยุคเก่า กับ ยุคใหม่ เป็นโอกาสใหม่ของประเทศไทยในการสร้างอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อ Transfer รถยนต์น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่บริหารจัดการโดยคนไทยอย่างแท้จริง

ในอดีตที่ผ่านมา แม้เราจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของภูมิภาค แต่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเกือบทั้งหมด ถ้าไทยใช้โอกาสนี้ทำ EV Conversion จะถือเป็นตัวกลางที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการ SME หรือแม้แต่ผู้ผลิตที่เป็นคนไทย รวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อู่ซ่อมรถ ที่กระจายอยู่ในเทียร์ 2 เทียร์ 3 จะได้รับโอกาสนี้อย่างมาก

ถ้าเราเร่งทำให้อุตสาหกรรมนี้เกิด ผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในระบบซัพพลายเชนก็มีเวลาปรับตัว ไม่ต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ในทันที EV Conversion จะทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้ มีเวลาปรับตัวเพื่อเข้าสู่ระบบรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้จะเกิดขึ้นได้รัฐบาลเป็นส่วนสำคัญอันดับต้นๆ การสนับสนุนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ Incentive ทำให้ราคาดัดแปลงรถต่ำลง เหมือนกรณีการสนับสนุนลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า 7 หมื่นถึง 1.5 แสนบาท ถ้า EV Conversion ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนการลดภาษีซื้อรถไฟฟ้าคันใหม่ จะเกิด Impact กับอุตสาหกรรม EV Conversion มหาศาล การช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการในระบบ อาทิ อู่รถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ เทคโนโลยี รวมถึงการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสำหรับธุรกิจ SME

หลักเกณฑ์ การขอจดทะเบียนรถไฟฟ้าดัดแปลง

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงมอเตอร์ไฟฟ้า

รถที่เคยจดทะเบียนไว้แล้ว และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงมอเตอร์ไฟฟ้า ให้เจ้าของรถยื่นเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้ประกอบคําขอการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถด้วย โดยมีเงื่อนไขการพิจารณา ดังนี้

1.หนังสือรับรองของวิศวกร ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมเครื่องกลและสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าตามขอบเขตและความสามารถที่กฎหมายว่า ด้วยวิชาชีพวิศวกรรมกําหนด รับรองว่ารถมีความมั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัยในการใช้งานและรับรองความปลอดภัย ของระบบไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) รายละเอียดการออกแบบหรือดัดแปลงพร้อมรายการคํานวณที่แสดงถึงคุณลักษณะของรถ การติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่ใช้ขับเคลื่อน รวมถึงระบบเบรก ระบบบังคับเลี้ยว การกระจายน้ำหนักรถ ระบบส่งกําลังและสมรรถนะของรถ

2) กําลังพิกัดมอเตอร์ไฟฟ้า

3) ขนาดแรงเคลื่อนและความจุของแบตเตอรี่

4) น้ำหนักรถไม่รวมแบตเตอรี่ น้ำหนักแบตเตอรี่ รถรวมแบตเตอรี่ น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก

5) ความเร็วสูงสุด

6) ระยะทางที่วิ่งได้ โดยแสดงการคํานวณความสัมพันธ์ กันระหว่างขนาดมอเตอร์ไฟฟ้า และความจุแบตเตอรี่ แปรนั้นมา เป็นความเร็วและระยะทางที่ทําได้

7) วงจรการควบคุมระบบไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ รวมถึงลักษณะและขนาดของสายไฟที่ใช้ในระบบขับเคลื่อนที่เหมาะสม ไฟฟ้า

(2)ผลทดสอบ ที่แสดงถึงความสามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกตามที่ผู้ผลิตกําหนดด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กําหนดในประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดกําลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมาย ว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2560 ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 30 นาที จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่กรมการขนส่งทางบกยอมรับ น้ำหนัก เช่น สถาบันยานยนต์ เป็นต้น

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีการพิจารณาควบคู่กับระเบียบการตรวจสภาพและระเบียบการดัดแปลงรถด้วย

จดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปอย่างไร

ค่าจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจะต่างจากรถยนต์ทั่วไป ในการดำเนินการจดทะเบียนกรณีรถเก๋ง กระบะ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีประจำปีในอัตรา ดังนี้

ค่าธรรมเนียม ได้แก่ คำขอ 5 บาท, ค่าแผ่นป้ายทะเบียน แผ่นละ 100 บาท 2 แผ่นป้ายรวมเป็น 205 บาท และค่าใบคู่มือจดทะเบียนรถ 100 บาท และค่าตรวจสภาพ 50 บาท รวมทั้งหมด 355 บาท

อัตราชำระภาษี ค่าจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจะต่างจากรถยนต์ คือ รถยนต์ทั่วไปเป็นการจัดเก็บตามความจุกระบอกสูบรวมกันของเครื่องยนต์ของรถยนต์แต่ละคัน แต่รถยนต์ไฟฟ้า จะจัดเก็บภาษีตาม น้ำหนักรถ และลดกึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนด

สำหรับข้อมูลต่างๆของการเปลี่ยนรถน้ำมันคันเดิมของเราเป็นรถไฟฟ้าก็มีเพียงเท่านี้และหากมีข้อมูลดีๆสาระดีๆแบบนี้ ทาง คอลัมน์ IT Talk ก็จะนำมาฝากกันอีกแน่นอนครับ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img