รัฐบาลให้ความสำคัญดูแลสิทธิมนุษยชนเด็ก เข้าถึงระบบการดูแลอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ นำไทยติดอันดับ 8 ของประเทศที่ดูแลสิทธิมนุษยชนของเด็กได้ดีที่สุด ประจำปี 2566 (The KidsRights Index 2023) สะท้อนผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล เข้าถึงการดูแลอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 8 ของประเทศที่ดูแลสิทธิมนุษยชนของเด็กได้ดี ประจำปี 2566 ( The KidsRights Index 2023) จากการทำดัชนีสิทธิเด็กของมูลนิธิเด็กระหว่างประเทศ (KidsRights) (https://www.kidsrights.org/research/kidsrights-index/) ซึ่งได้จัดอันดับประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมดที่ได้ให้การรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ จากทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก มาวิเคราะห์และจัดอันดับตามเกณฑ์ที่กำหนด
รายงานการจัดอันดับดังกล่าวเป็นผลสำรวจต่อเนื่องประจำทุกปี มีเกณฑ์การให้คะแนน จาก 5 ดัชนีหลัก ได้แก่
- สิทธิด้านสุขภาพ (Right to Health)
- สิทธิในการดำรงชีวิต (Right to Life)
- สิทธิในการศึกษา (Right to Education)
- สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง (Right to Protection) และ
- การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสิทธิเด็ก (Enabling Environment for Child Rights)
รวมทั้งรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (The Committee on the Rights of the Child)
ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 จากผลรวมคะแนนในแต่ละดัชนี ขณะที่ 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เยอรมนี กรีซ เดนมาร์ก ไทย นอร์เวย์ และสโลวีเนีย ตามลำดับ
สำหรับผลคะแนนดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลก สะท้อนผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลที่เน้นย้ำความสำคัญของสิทธิเด็กและเยาวชนให้เข้าถึงระบบการดูแลอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านการดูแลและด้านการศึกษาให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย เช่น การจัดสวัสดิการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด โครงการอาหารกลางวัน โครงการเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน รวมทั้งการส่งเสริมคุณภาพด้านปฐมวัย ผ่านการใช้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 เป็นต้น
สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งกำหนดให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับการคุ้มครองในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยมีหลักการสำคัญ คือ การไม่เลือกปฏิบัติและถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง ซึ่งประกอบด้วยสิทธิของเด็ก 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิในการอยู่รอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม
นายกรัฐมนตรีขอบคุณความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนที่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต โดยผลสำเร็จจากการจัดอันดับดังกล่าวช่วยสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากทั่วโลกในเรื่องการดูแลสิทธิเด็กของไทย ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมส่งมอบแนวนโยบายที่ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสิทธิเด็กและเยาวชนที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิดเป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต สร้างรากฐานการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน
#thaitabloid
สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ สื่อออนไลน์ ที่ยึดถือจรรยาบรรณครบถ้วน