“วิโรจน์” ชี้ 6 ความท้าทายหลังเหตุอุทกภัยภาคเหนือ จี้รัฐบาลเร่งเยียวยาหลังพบเหยื่อน้ำท่วมกู้นอกระบบเพียบ

48

ที่ Sol Bar อาคารอนาคตใหม่ชั้น 2 เมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 พฤศจิกายน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) แถลงเปิดรายงานประชาชนอาสาฟื้นฟูน้ำท่วมจังหวัดเชียงราย โดยกล่าวว่าอุทกภัยครั้งที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.เชียงราย ไม่ได้มีแค่น้ำ แต่เป็นน้ำป่าและโคลนถล่ม ทิ้งร่องรอยความเสียหายที่ยากต่อการฟื้นฟู ถือเป็นอุทกภัยที่สร้างความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบเศรษฐกิจมากเป็นลำดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์ของประเทศนับตั้งแต่ปี 2547 โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากคือ อ.แม่สาย ทั้งนี้ การทำงานของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูเมืองทำได้ค่อนข้างรวดเร็ว การแถลงของตนในวันนี้จึงเปรียบเหมือนการชวนเก็บรายละเอียด โดยต้องขอขอบคุณทุกคนทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วม หวังว่าภัยพิบัติเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

วิโรจน์กล่าวว่า ย้อนไปช่วงเกิดอุทกภัยเมื่อเดือนกันยายน สส.เชียงรายพรรคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ เขต 1, ฐากูร ยะแสง เขต 3 และ จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เขต 6 ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้นทันทีและประสานงานกับหน่วยงานราชการ ต่อมาวันที่ 20 กันยายน สส.ชิตวัน เริ่มตั้งทีมฟื้นฟูล้างบ้านโดยได้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิกระจกเงา และได้รายงานให้ที่ประชุม สส.ของพรรคประชาชนทราบว่าภารกิจฟื้นฟูเมืองให้เสร็จโดยเร็วมีความสำคัญมาก เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในฤดูหนาวที่ใกล้มาถึง ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว พรรคจึงมอบหมายให้ตนเป็นตัวแทน สส. ในการจัดตั้ง “ศูนย์ประชาชนอาสา” ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการระดมอาสาสมัคร จนเมื่อสภาฯ ปิดสมัยประชุม ต้นเดือนพฤศจิกายน สส.พรรคประชาชนจึงลงพื้นที่ร่วมทำกิจกรรมอาสาตักโคลนล้างบ้านฟื้นฟูเมืองที่ จ. เชียงรายร่วมกับภาคประชาชนด้วย

ตลอดการทำงานตั้งแต่วันแรกที่เริ่มโครงการเมื่อ 4 ตุลาคม ต้องขอขอบคุณมูลนิธิกระจกเงาที่เป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำในการตั้งระบบ ทำให้กลุ่มประชาชาอาสาล้างบ้านหลังแรกได้ในวันที่ 9 ตุลาคม และหลังสุดท้ายวันที่ 6 พฤศจิกายน ก่อนปิดโครงการวันที่ 9 พฤศจิกายน รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 37 วัน ทำความสะอาด 95 จุด แบ่งเป็นอำเภอเมือง 38 จุด อำเภอแม่สาย 57 จุด ช่วยเหลือประชาชนทั้งสิ้น 317 คน ใช้งบประมาณกว่า 1,200,000 บาท ในเวลานั้นภาครัฐแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยดูแลพื้นที่ อ.เมือง ส่วนกองทัพดูแล อ.แม่สาย

รองหัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวว่า อย่างไรก็ดี มีพื้นที่ซอยหนึ่งใน อ.เมืองเชียงราย อยู่ติดกับบ้านธนารักษ์ซึ่งเป็นบ้านสวัสดิการของกองทัพบก มีโคลนในซอยสูงถึง 80 เซนติเมตร – 1 เมตร กลุ่มประชาชนอาสาไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ ศักยภาพของเครื่องจักรที่ท้องถิ่นมีอยู่ ก็ไม่สามารถจัดการได้ หลังจากตนประเมินสภาพพื้นที่ จึงได้พูดคุยขอคำปรึกษาจากเจ้ากรมยุทธการทหารและเจ้ากรมทหารช่าง ซึ่งต้องขอบคุณที่ในเวลาต่อมา ทหารช่างส่งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่อย่างรวดเร็ว นี่คือตัวอย่างของการร่วมแรงร่วมใจทำงาน เราผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนทั้งราชการและท้องถิ่นเพื่อให้งานสำเร็จ

วิโรจน์กล่าวว่า ความท้าทายของรัฐบาลนับจากนี้ได้แก่ จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงการชดเชยเยียวยาอย่างรวดเร็วไม่ตกหล่น จะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินในระบบ เพราะจากการลงพื้นที่ ตบพบว่าทุกบ้านจะมีบัตรของแหล่งเงินกู้นอกระบบตกอยู่ตามพื้นเต็มไปหมด แสดงว่านายทุนเงินกู้นอกระบบรู้ว่าชาวบ้านคนตัวเล็กต้องการเงินทุนเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ธนาคารออมสินซึ่งเป็นกลไกหลักของรัฐ ทำให้ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินในระบบได้ ไม่เช่นนั้นหลังจากนี้ภาวะหนี้ครัวเรือนจะยิ่งซ้ำเติมชาวเชียงราย

นอกขากนี้เขายังกล่าวด้วยว่า ระบบระบายน้ำที่พร้อมรองรับฤดูฝนในปี 2568 เป็นอีกความท้าทาย เพราะเราเชื่อว่ายังมีโคลนค้างอยู่ในท่อบางจุด จึงจำเป็นต้องมีการลอกท่อครั้งใหญ่ ข้อจำกัดตอนนี้คืองบประมาณของท้องถิ่นอาจร่อยหรอลงเพราะต้องนำเงินสะสมไปใช้ในช่วงภัยพิบัติ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องพิจารณางบประมาณให้เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือประชาชน ขณะเดียวกัน ปัญหาเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน เนื่องจากหลายบ้านไม่มีบ้านเลขที่ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้เข้าไม่ถึงการชดเชยเยียวยา รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน รวมถึงย้ายประชาชนที่ปัจจุบันอาศัยในพื้นที่เสี่ยง ให้ออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

สำหรับปัญหาบ่อบำบัดน้ำเสียที่ อ.แม่สาย ที่ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าสร้างขวางทางไหลของน้ำหรือไม่ ตอนนี้บ่อชำรุด รัฐควรให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบว่าขวางทางน้ำจริงหรือไม่ ปรับปรุงให้มีการระบายน้ำที่ดีขึ้นกว่านี้ได้หรือไม่ ในอนาคตจะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำเดิม โดยเรื่องนี้ตนได้ตั้งกระทู้ถามไปยังนายกรัฐมนตรีให้ตอบในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนทราบว่ารัฐจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากยังมีประชาชนไม่สบายใจ กังวลว่าปีหน้าจะเกิดเหตุแบบปีนี้ ซึ่งนายกฯ มีหนังสือตอบกลับมาแล้ว ขอเวลาในการตอบเพิ่มเติม ตนจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป

ความท้าทายประการสุดท้าย วิโรจน์ กล่าวว่า คือการขุดลอกแม่น้ำสาย เนื่องจากเป็นแม่น้ำที่กั้นพรมแดนระหว่างไทยและเมียนมา การทำอะไรจึงมีข้อจำกัดเพราะมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องพูดคุยว่าจะขุดลอกแม่น้ำสายร่วมกันอย่างไร ทำระบบเตือนภัยให้ประชาชนทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำได้ประโยชน์ รวมถึงพิจารณาปัญหาการรุกล้ำลำน้ำ

#Thaitabloid #วิโรจน์ลักขณาอดิศร #พรรคประชาชน #ศูนย์ประชาชนอาสา