มารู้จักแผนยุทธศาสตร์ชาติ20ปี
กลายเป็นปมร้อนทางการเมือง เรื่องของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันร่างยุทธศาสตร์ชาติได้ดำเนินการมาจนใกล้แล้วเสร็จ ชณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ภายหลังที่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ จนครบทั้ง 4ภาค นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้ยุทธศาสตร์ชาติฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด ซึ่งได้นำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณา และเมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาแล้วเสร็จ จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)จากนั้นจะนำเสนอขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และพร้อมประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ภายในเดือนกรกฎาคม 2561นี้
ต่อจากนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ชุด จะไปดำเนินการจัดทำแผนแม่บท เพื่อนำมากำกับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติต่อไป เพื่อวางกรอบการพัฒนาประเทศให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรณ์มนุษย์ให้เหมาะสมต่อไป เนื่องจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศให้ปรับตัวได้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ภายใต้กรอบดำเนินการ 20 ปี เป็นการวางแผนระยะยาว เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในภาพรวมให้เหมาะสม และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงทั้ง 6 ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน
สำหรับการวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ได้คำนึงถึงการปฏิบัติได้จริงเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันเพราะกำหนดให้มีการประเมินผลแผนงานในทุกปี และสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ทุก 5 ปี ให้สอดรับกับเหตุการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานในการวัดค่าความสำเร็จของแผนงานในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมีเกณฑ์มาตรฐานในการวัดค่าความสำเร็จเป็นเปอร์เซ็นต์ด้วย จึงไม่ต้องวิตกกังวลว่าวเมื่อกำหนดเป็นแผนระยะยาวแล้วจะล้าสมัย หรือไม่ทันต่อเหตุการณ์
หวั่นปัญหากับหน่วยงานรัฐ-ฝ่ายการเมือง
ต่อมาในการประชุมสนช.ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 1 คณะ ก่อนลงมติเห็นชอบต่อร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่ครม.เสนอหลังจากที่ตัวแทนของรัฐบาล และตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าๆ ชี้แจงเนื้อหา โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ชี้แจงต่อเนื้อหาร่างยุทธศาสตร์ชาติภาพรวมว่า เป็นแผนซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศ ที่ส่งผลดีด้านการตัดสินใจลงทุน อย่างรก็ตามที่ผ่านมาประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 3 ปี หรือ 5 ปี เพื่อให้แก้ไข หรือปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ และแนวทางของรัฐบาล แต่พบปัญหาคือไม่ตอบโจทย์การลงทุนระยะยาวได้ ดังนั้นร่างยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปีจะเป็นผลดี ทั้งนี้ในเนื้อหาที่วางเป็นแนวทาง สามารถแก้ไขและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกำหนดช่วงให้แก้ไขได้ในระยะ 5 ปี
สำหรับร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีผลผูกพัน 5 ประการ คือ 1.นโยบายรัฐบาลที่ต้องแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา, 2.ผูกพันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 3.แผนชาติด้านต่างๆ อาทิ ด้านความมั่นคง, ด้านการศึกษา, ด้านวัฒนธรรม เป็นต้น, 4.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และ 5.การปฏิรูปประเทศ ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติเมื่อได้รับความเห็นชอบ ยังมีสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้แผนเดินหน้าได้ คือ การกำหนดแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ที่คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือนจากนั้นต้องนำเสนอสภา พิจารณาและให้ความเห็นชอบ และ การกำหนดแผนปฏิบัติที่หน่วยงาน หรือ กระทรวงที่เกี่ยวข้องข้องกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในร่างยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง, ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน, ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์, ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม, ด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตี่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีตัวแทนชี้แจงสาระสำคัญ โดยย้ำถึงโจทย์ที่เป็นวิสัยทัศน์ประเทศ คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สังคมเท่าเทียม เสมอภาค หน่วยงานรัฐมีประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ รวมถึงคนไทยกินดีมีสุข มีความสามารถด้านการแข่งขันการค้า การกระจายรายได้ รวมถึงมีทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ตามแผนที่ชี้แจงดังกล่าวถูกท้วงติงจาก สนช.ที่เนื้อหายังขาดความชัดเจนต่อภาระกิจตามเป้าหมาย พร้อมเสนอข้อทักท้วงต่อการทำแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าต้องไม่ใช่การสร้างเงื่อนไขที่ผูกมัดจนกลายเป็นปัญหาต่อการปฏิบัติของหน่วยงานหรือรัฐบาลในอนาคต
พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร สนช.ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแผนยุทธศาสตร์ชาติล่วงหน้า กล่าวถึงผลศึกษาเบื้องต้น ว่า อยากให้เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านจิตใจในรายละเอียด้านต่างๆ นอกจากนั้นคือต้องการให้นำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการที่เตรียมเขียนรายละเอียดเข้าสู่ สนช. อีกรอบเพื่อให้ความมั่นใจว่าข้อเสนอจาก สนช. ถูกบรรจุในแผนดังกล่าวอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามร่างยุทธศาสตร์ชาติเป็นการเขียนโดยเจตนารมณ์ของผู้เขียน แต่ยังมีกรอบทำงานที่กว้างเกินไป ดังนั้นผลอาจไม่เป็นไปตามที่ต้องการ จึงมีข้อเสนอให้นำโครงการที่เป็นภารกิจหลัก ทีคาดว่าจะมีความสำเร็จ ร้อยละ 60เขียนในร่างยุทธศาสตร์
แผนแม่บทจำเป็นต้องทำโดยเร็ว โดย 2 เดือนถือว่าเหมาะสม และเมื่อทำเสร็จต้องเผยแพร่และสร้างความเข้าใจกับข้าราชการอันดับแรก ต่อด้วยเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงาน พร้อมกับปักเป้าหมายให้ชัดเจนร่วมกัน นอกจากนั้นร่างยุทธศาสตร์ชาติควรแก้ไขและปรับปรุงได้ ตั้งแต่ในชั้นของ สนช. และเวลาที่ยังเหลืออีก 20 วันก่อนครบกำหนด ควรตั้งกมธ.พิจารณา ซึ่งมีตัวแทนของกมธ.สามัญ ประจำสนช. พิจารณาให้ความเห็น
ขณะที่ นายสนิท อักษรแก้ว สนช.อภิปรายถึงยุทธศาสตร์ด้านที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าควรเพิ่มเติมบางประเด็นที่สอดคล้องกับกติกาสากล หรือสนธิสัญญาที่ประเทศไทยลงนามร่วมกับนานาชาติ และควรทำเนื้อหาให้มีความยืดหยุ่น เพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดของการปฏิบัติในรัฐบาลชุดหน้า ที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญได้
ด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สนช. อภิปรายด้วยว่าร่างแผนยุทธศาสตร์ชาติควรทำให้มีความเหมาะสม ไม่ให้แผนยุทธศาสตร์เกิดผลลบ โดยไม่ลงรายละเอียดมากเกินไป หรือ ขาดรายละเอียด เพราะจะเป็นผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากหากขาดรายละเอียด หน่วยงานปฏิบัติอาจทำงานแบบสบาย ขณะที่การลงรายละเอียดมากเกินไป หน่วยงานผู้ปฏิบัติงานต้องถูกยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้ตรวจสอบฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และ สภาฯ ต้องตรวจสอบ ดังนั้นภาระงานจะตกอยู่กับ ป.ป.ช.และ รัฐสภา
ส่วนนายกล้าณรงค์ จันทิก สนช.อภิปรายในข้อเสนอต่อการออกกฎหมายตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ว่า ต้องไม่ทำให้กลายเป็นภาระหรือดาบสองคมสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ตนเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องนามธรรมที่ต้องออกเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้การปฏิบัติไปสู่รูปธรรมจำเป็นต้องออกแบบแผนงานและโครงการ ดังนั้นต้องพิจารณาเนื้อหาให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดความลำบากกับฝ่ายใด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าหลังจากที่ได้พิจารณาวาระดังกล่าวนาน 4ชั่วโมง ที่ประชุมได้ตั้งคณะกมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 38 คน และให้เวลาศึกษา ภายใน 22วัน นับจากวันที่ 15 มิถุนายน ทั้งนี้ต้องศึกษาให้แล้วเสร็จและส่งกลับเข้าสู่ สนช.เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนวันที่ 7 กรกฎาคม นี้
เหล่านั้นเป็นการอธิบายความของภาคส่วนรัฐบาล ที่กล่าวอ้างถึง”แผนยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี”ที่จัดทำขึ้นมา ภายใต้การกำกับของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการก้าวเดินไปตามกรอบของสภานิตบัญญัติแห่งชาติ
พท.มองยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี มัดมือปชช.
ต่อจากนี้มาเปิดมุมมองของซีกนักการเมืองกับแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวกันบ้าง เรื่อมจากนายก่อแก้ว พิกุลทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย(พท.)และแกนนำนปช.กับมุมมองเรื่องนี้ โดยเขาระบุว่าการวางยุทธศาสตร์ถือเป็นเรื่องที่ดีและมีความจำเป็น แต่ส่วนตัวมองว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะต้องกำหนดเอาไว้แบบกว้างๆ เพื่อให้มีความยืดหยุ่น แต่การวางยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล และคสช.ที่มีการกำหนดไว้เพื่อให้รัฐบาลต่อๆไปต้องปฎิบัติตามห้ามออกนอกกรอบกำหนด และหากไม่ปฎิบัติตามจะมีโทษนั้น ถือเป็นเรื่องอันตราย และจะมีผลกระทบต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดต่อไปแน่นอน
ทั้งนี้ตามวิถีทางประชาธิปไตย การคิดนโยบายของพรรคการเมือง เพื่อมานำเสนอประชาชน และหากประชาชนไว้วางใจหรือเชื่อในนโยบาย ได้รับฉันทามติให้เข้ามาบริหารประเทศ พรรคการเมืองก็ต้องปฎิบัติตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ถือเป็นหลักการตามระบบประชาธิปไตย แต่เมื่อมีการเขียนกำหนดหรือล็อกเอาไว้ตั้งแต่แรก ถือว่ามีผลกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน เหมือนมัดมือประชาชน
นอกจากนั้นในส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯเห็นว่าคนที่มีความรู้เฉพาะด้านนั้นๆ ในทุกๆด้านมาช่วยกันระดมความคิดมากำหนด ไม่ใช่มาจากคนกลุ่มเดียวและกลุ่มเดิม ทั้งนี้เขาไม่ได้กล่าวหาว่า คณะกรรมการไม่มีความสามารถ เพียงแต่มองว่า มีความสามารถรอบด้านขนาดมากำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อกำหนดทางเดินให้คนไทยทั้ง 70กว่าล้านคน ต้องเดินตามได้เลยหรือไม่ เพราะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าประชาชนน่าจะได้เห็นผลงานกันแล้ว ว่าประเทศชาติต้องเดินไปในทิศทางใด ถอยหลังหรือเดินหน้า และจะมั่นใจคนกลุ่มนี้ได้อีกหรือไม่
“โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน เทคโนโยลีก้าวหน้าไปโดยไร้ขีดจำกัดยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ จะก้าวทันโลกอนาคตได้ขนาดไหน เปรียบเหมือน เต่าที่กำลังนอนฝันว่าตัวเองวิ่งเร็วเหมือนกระต่าย และพอตื่นขึ้นมาก็ยังคิดว่าตัวเองเป็นกระต่ายอยู่ ลืมตัวไปว่าตัวเองเป็นเต่า”
ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นออกมาโจมตีทำสับสน
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิตและผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)ได้แสดงความเห็นด้วยในหลักการที่ประเทศไทยควรจะมียุทธศาสตร์ชาติ เพื่อวางเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาประเทศคล้ายๆกับเป็นวิสัยทัศน์แห่งชาติ
“ผมเห็นด้วยในหลักการที่ประเทศไทย ควรจะมียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศส่วนใหญ่ ก็มีแผนยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ประเด็นปัญหาที่ควรจะถกแถลงกันในขณะนี้ หลังจาก สนช.รับร่าง ยุทธศาสตร์ชาติและมีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณานั้น ควรจะถกกันถึงเนื้อหาสาระว่าขาดตกบกพร่องตรงไหนอย่างไร และจะปรับแก้อย่างไรให้สมบูรณ์”
โดยนายสุริยะใส ได้ให้ข้อท้วงติงจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ที่น่าสนใจก็คือการมีส่วนร่วมของสังคม ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติน้อยไป หรือเขียนโดยคนไม่กี่คน ฉะนั้นในขั้นกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง ขณะที่มีความพยายามของบางฝ่าย ที่จะสร้างความสับสนให้กับสังคมว่าไม่จำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือถึงขั้นโจมตีว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจนั้น โดยส่วนตัวคิดว่า ไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดนั้น และถ้าในหลักการเราเห็นความจำเป็นของการมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ ก็ควรจะอ่านเนื้อหาสาระเสียก่อนแล้วมาดูกันว่า ต้องปรับแก้เพิ่มเติมตรงไหน อย่างไร
“เท่าที่ผมได้อ่านร่างยุทธศาสตร์ชาติ เบื้องต้นหลายเรื่อง ก็เป็นเรื่องที่ดีและน่าสนใจ ที่เราได้วางวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการพัฒนาชาติอย่างชัดเจน แต่บางเรื่องก็จำเป็นที่ต้องทบทวนหรือปรึกษาหารือในวงกว้าง เพื่อขจัดวาระซ่อนเร้นใดๆ น่าเสียดายนักการเมืองหรือพรรคการเมือง อาจจะไม่ชอบและรังเกียจแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพราะอำนาจที่เขากำลังจะแย่งชิงจากการเลือกตั้ง จะถูกตัดตอนและถูกแบ่งปันไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ จนใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา”
ชี้5ปีรบ.ใหม่สามารถแก้ไขได้
ขณะที่พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความเห็นเอาไว้ ถึงกรณีมีการออกมาต่อต้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และระบุควรเป็นรัฐบาลใหม่เป็นคนร่างยุทธศาสตร์ชาติว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมียุทธศาสตร์ อันนี้เรามาเริ่มต้นให้ ถ้าสมมุติอันไหนทำไม่ได้รัฐบาลใหม่ก็ไปแก้ ซึ่ง 5 ปีก็แก้ได้ ส่วนที่ขู่จะฉีกยุทธศาสตร์ชาติและรัฐธรรมนูญนั้น”ฉีกได้ก็ฉีกไป”
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ว่ายุทธศาสตร์ชาติคนที่จะใช้คือคนอายุ 20-40 ปีแต่เอาคนมีอายุมาร่าง พล.อ.ประวิตร กล่าวสวนทันทีว่า คนมีอายุก็คิดเหมือนคนอายุ 20 ปีเหมือนกัน ทำไมต้องมาว่าคนอายุ 60 ปี จะต้องคิดแบบคนอายุ 60 ปี เขาคิดแล้วว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ใครจะไปคิดถอยหลัง
คนไทยเกินครึ่งไม่รู้จักยุทธศาสตร์ชาติ
ทางด้านผลสำรวจเรื่องของ”แผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ประชาชน คิดอย่างไรต่อ ยุทธศาสตร์ชาติ กับ อนาคตของประชาชน และ อนาคตของประเทศไทยที่ต้องการ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวน 1,150 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 5 – 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า อนาคตของประชาชนกับอนาคตของประเทศไทยที่ต้องการมากที่สุด ได้แก่ ร้อยละ 29.0 ระบุว่า ประชาชนคนไทยต้องมีงานทำมั่นคง มีเงินพอค่าครองชีพ ไม่ถูกคนต่างด้าวแย่งอาชีพ รองลงมาคือร้อยละ 22.6 ระบุ บ้านเมืองสงบสุข ไม่วุ่นวาย อันดับสาม ได้แก่ ร้อยละ 17.3 ระบุ ประชาชนมีระเบียบวินัย มีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังต่อเนื่อง ควบคุมพฤติกรรมคนได้ อันดับสี่ ได้แก่ ร้อยละ 10.6 ระบุ ประชาชนได้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน อันดับห้า ได้แก่ ร้อยละ 10.3 ประชาชนมีทัศนคติที่ดีต่อกัน และ อันดับหก ได้แก่ ร้อยละ 10.2 ระบุ เป็นพลเมืองที่ดีต่อประเทศชาติ
จากการสัมภาษณ์เจาะลึกกลุ่มคนไทยวัยทำงานถึงเหตุผลว่า ทำไมเรื่องการมีงานทำมั่นคง จึงขึ้นมาเป็นอันดับแรกแซงหน้าความสงบสุขของบ้านเมือง พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ แต่ปัญหาคนไทยไม่มีงานทำที่มั่นคงกระทบต่อคนไทยจำนวนมากคนตอบส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ทุกวันนี้คนไทยถูกแย่งอาชีพหลายอย่างที่เคยทำอยู่อย่างมั่นคงต่อเนื่องมา บางพื้นที่แรงงานต่างด้าวผันตัวเองมาเป็นเจ้าของค้าขายจำนวนมาก เช่น อาชีพค้าขายอิสระ ขายผักขายปลา ขายผลไม้ในตลาดสด อาชีพทำอาหาร ทำครัว ขายก๋วยเตี๋ยว ขายส้มตำ พนักงานคิดเงินตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัยต่างๆ คนไทยถูกผลักออกไปทำอาชีพอิสระไม่มั่นคง หาเช้ากินค่ำ ไม่พอค่าครองชีพ จำนวนมากหันไปขายของออนไลน์ก็ไม่มีหน่วยงานรัฐใดสนับสนุนส่งเสริม ชีวิตเป็นไปตามยถากรรม บางคนจึงไปเล่นพนัน หวังรวยทางลัด ค้ายาเสพติด ก่ออาชญากรรม หลอกลวงต้มตุ๋น ฉ้อโกง ติดคุกมีคดีติดตัว ขาดหน่วยงานรัฐดูแลชีวิตการงานของคนไทยให้มั่นคง จึงทำให้อันดับของความต้องการที่จะเห็นคนไทยมีงานทำมั่นคง มีเงินพอค่าครองชีพ ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง
นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่า แย่แล้ว ที่ผลสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 เคยได้ยินคำว่า ยุทธศาสตร์ชาติ แต่เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.9 ไม่รู้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติคืออะไร และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.2 ระบุ จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ ด้วยภาษาง่ายๆ ชาวบ้านจำได้ง่าย จะได้ช่วยกันปกป้องผลประโยชน์ชาติร่วมกันได้ดีขึ้น
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนจัดทำยุทธศาสตร์เขียนยุทธศาสตร์ชาติออกมาเยอะเกินไป โดยใช้ภาษาวิชาการห่างไกลตัวประชาชนและขาดกลยุทธ์ในการสื่อสารกับประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นคนออกแบบยุทธศาสตร์มุ่งแต่ใช้อำนาจรัฐ (State Power) ทำให้เกิดการเน้นการใช้กองกำลังปฏิบัติการที่ใช้งบประมาณสูง แต่ลงทุนด้านการหาข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำน้อยมากในการออกแบบยุทธศาสตร์ และให้ความสำคัญน้อย เช่นกันกับอำนาจจากภาคประชาชน (Non-State Power) ทำให้ออกแบบยุทธศาสตร์ได้ไม่ดีพอ ขาดพลังจากฐานรากของประชาสังคมสนับสนุน ประเทศไทยจึงอยู่ในวังวนของปัญหาและเสียงเรียกร้องเดิมๆ ต่อไป
จากมุมมองของแต่ป้อมคูประตูค่าย ภายใต้ความเห็นที่แตกต่าง ส่วนจะเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจ(ปัจจุบัน)หรือไม่?! ในข้อกล่าวหาของนักการเมือง นั้น ชาวบ้านอย่างเราๆท่านๆ คงต้องใข้วิจารณญาณในการพิจารณาบริบทแห่งปัญหามิใช่หรือ??!!