เมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) ที่สภานิติบัญญัติแห่งขาติ(สนช.) ได้พิจารณาวาระให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสนอต่อที่ประชุม สนช. โดยกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะบังคับใช้ประมาณ 20 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2561-2580 ช่วงเวลา 20 ปี อาจจะยาวนานจนเกิดความวิตกว่าจะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้กฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่า
1.ต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี
2.ในระหว่าง 5 ปี ถ้ามีเหตุการณ์บ้านเมืองหรือสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน สามารถจะยกขึ้นมาพิจารณาและแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นจะแจ้งมายังคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อขอดำเนินการแก้ไข จึงไม่เป็นเรื่องซับซ้อนและไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคตจนไม่สามารถทำอะไรได้แต่อย่างใด
นายวิษณุ กล่าวด้วยว่าสำหรับร่างยุทธศาสตร์ชาติ มีผลผูกพัน 5 ประการ คือ
1.นโยบายรัฐบาลที่ต้องแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภา
2.ผูกพันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3.แผนชาติด้านต่างๆ อาทิ ด้านความมั่นคง, ด้านการศึกษา, ด้านวัฒนธรรม เป็นต้น
4.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และ
5.การปฏิรูปประเทศ
ทั้งนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติเมื่อได้รับความเห็นชอบ ยังมีสิ่งที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้แผนเดินหน้าได้ คือ การกำหนดแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ที่คาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือนจากนั้นต้องนำเสนอสภา พิจารณาและให้ความเห็นชอบ และ การกำหนดแผนปฏิบัติที่หน่วยงาน หรือ กระทรวงที่เกี่ยวข้องข้องกำหนด
นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อยุทธศาสตร์ชาติยังบังคับใช้อยู่ ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากจะไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องแก้ไขหรือปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติก่อน โดยยุทธศาสตร์ชาติไม่มีรายละเอียดของโครงการ เราจะไม่พบว่ารถไฟความเร็วสูงยาวกี่กิโลเมตร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพราะต้องไปทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต่อไปกันอีกในอนาคต โดยแผนแม่บทจะต้องนำเสนอต่อสภาอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าคณะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะยกร่างแผนแม่บทให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
ทางด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นโรคร้ายมาเป็นระยะ คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ที่มักจะยกเลิกโครงการต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โครงการขนาดใหญ่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวเป็นสิ่งที่จำเป็น และมีอยู่ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์ หรือจีน เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศชาติ ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใน 6 ด้าน ได้แก่
1.ด้านความมั่งคง เช่น การสร้างความสุขให้กับคนในชาติ การสร้างเสถียรภาพในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ
2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เช่น ทางการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ
3.การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยการพัฒนาศักยภาพของคนเพื่อสนับสนุนต่อการเจริญเติบโตของประเทศ เสริมสร้างสุขภาวะและความสุขในครัวเรือน การศึกษาและสร้างความเป็นจิตอาสา
4.การสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม โดยการกระจายอำนาจสู่กลไกการบริหารราชการแผ่นดินระดับท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เข้าถึงบริการและสวัสดิการได้อย่างทั่วถึง
5.การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต
6.การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อให้เป็นภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวมโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าหลังจากที่ได้พิจารณาวาระดังกล่าวนาน 4 ชั่วโมง ที่ประชุมได้ตั้งคณะกมธ. วิสามัญ พิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 38 คน และให้เวลาศึกษา ภายใน 22 วัน นับจากวันที่ 15 มิถุนายน ทั้งนี้ต้องศึกษาให้แล้วเสร็จและส่งกลับเข้าสู่ สนช. เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนวันที่ 7 กรกฎาคม นี้.