“อนุทิน” ตอบ ปมเขากระโดง ย้ำ มหาดไทย ทำตาม กม. เพิกถอนสิทธิ์ต้องตามข้อเท็จจริง ไมใช่ถูกการเมืองกดดัน

85

ที่อาคารรัฐสภา วันที่ 6 มกราคม  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ สว. เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของกรมที่ดิน ในกรณีข้อพิพาทย์พื้นที่เขากระโดง ระบุว่า ที่มีการกล่าวอ้างว่าที่ดินกว่า 5 พันไร่นั้นมีคำพิพากษาจากศาลฎีกาและศาลปกครองกลางว่าเป็นของการรถไฟแล้ว เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเป็นอย่างยิ่ง ข้อเท็จจริงในส่วนของศาลฎีกาก็คือ มีคำพิพากษาอยู่สองคดี คดีหนึ่งมีคู่ความเป็นราษฎร 35 รายที่ฟ้องการรถไฟ อีกคดีเป็นราษฎร 1 รายที่ฟ้องการรถไฟที่ไปคัดค้านการขอออกโฉนด ภายหลังฝ่ายราษฎรแพ้คดี และกรมที่ดินได้ดำเนินการตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว

“ศาลไม่ได้วินิจฉัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ การอ้างว่าคำพิพากษานั้นเป็นการยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดจึงเป็นการขยายความเกินขอบเขตของคำพิพากษา เราไม่สามารถนำผลของคำพิพากษาที่ดินแปลงหนึ่ง ไปใช้กับที่ดินแปลงอื่น ๆ ได้ เนื่องจากการได้มาของที่ดินแต่ละแปลงมีความแตกต่างกัน ราษฎรซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงต้องมีโอกาสในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง” นายอนุทิน กล่าว

ศาลปกครองสูงสุด

ในส่วนของศาลปกครองกลางนั้น ข้อเท็จจริงคือ ศาลไม่ได้มีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดตามที่มีการสื่อสารคลาดเคลื่อน แต่ศาลได้สั่งให้อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามความในมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยศาลได้มีคำวินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่า หากอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว และพิจารณาข้อเท็จจริงได้เป็นเช่นใด ย่อมเป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดิน ที่จะดำเนินการมีคำสั่งตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตามที่เห็นสมควร ซึ่งศาลไม่อาจก้าวล่วงได้

โดยผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนฯ ได้นำสู่ข้อสรุปว่า ยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายจะพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขได้ ตามกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งกว่าคณะกรรมการสอบสวนจะมีมติให้ยุติเรื่องนั้น ก็ได้มีการรวบรวมและรับฟังพยานหลักฐานรอบด้าน ประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับคณะกรรมการฯ คือประเด็นที่ว่าแผนที่ที่การรถไฟฯ ใช้กล่าวอ้างนั้น ไม่ใช่แผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟสายตวันออกเฉียงเหนือ พระพุทธศักราช 2464 แต่เป็นรูปแผนที่สังเขปซึ่งได้จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2539 เป็นการจัดทำขึ้นตามมติที่ประชุม กปร. ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มสมัชชาคนจน

รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการสอบสวนฯยังให้เหตุผลด้านเทคนิคต่างๆประกอบอีกมากมาย ทั้งข้อมูลจากคณะทำงานดำเนินการถ่ายทอดแนวเขตที่ดิน ซึ่งได้ตรวจสอบทางรถไฟโดยใช้วิธีการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ไล่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 จนถึงปี 2557 ปรากฏว่าทางรถไฟมีระยะทางไม่ตรงกับที่การรถไฟกล่าวอ้าง แล้วยังมีการลงสำรวจเส้นทางรถไฟในพื้นที่จริง ด้วยการรังวัดค่าพิกัดด้วยเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบจลน์ ซึ่งสามารถยืนยันตำแหน่งทางรถไฟที่ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศว่าตรงกับตำแหน่งรางรถไฟบนที่ดินจริงด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการตรวจสอบกับแผนที่ภูมิประเทศชุดแรกของประเทศไทยที่จัดทำโดยกรมแผนที่ทหาร เพื่อยืนยันความถูกต้องอีกชั้นหนึ่ง

ในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินนั้น คณะกรรมการฯพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาประเด็นคำคัดค้านพยานหลักฐานของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว เห็นว่ารับฟังได้ คณะกรรมการสอบสวนฯ จึงมีมติยืนยันความเห็น ว่าไม่สมควรที่จะเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ จนกว่าจะได้มีพยานหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติได้ รวมถึงเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่สามารถพิสูจน์กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯด้วย

“ผมอยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ด้วยใจที่เป็นธรรมครับ คำแถลงของกรมที่ดินที่ผ่านมาอาจจะยาวหน่อย แต่นั่นก็เป็นเพราะเรื่องนี้มีข้อมูล ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงทางเทคนิคมากมาย ผมไม่อยากให้ใครตั้งธงใดๆ เพียงเพราะบริบทของเรื่องนี้มีความเกี่ยวโยงกับบุคคลทางการเมือง เพราะในความเป็นจริง ประชาชนที่ครอบครองที่ดินมานานหลายสิบปีนั้น มีจำนวนมากมาย และพวกเขาไม่ควรได้รับผลกระทบทางการเมืองไปด้วย กระทรวงมหาดไทยจึงต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากจะมีการเพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงใด ก็ต้องเกิดเพราะมีข้อเท็จจริงเพียงพอให้กระทำได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่เพราะกระแสกดดันทางการเมือง” นายอนุทินตอบกระทู้