พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำชับหน่วยงานในสังกัดขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม. เมื่อ 28 ก.ย.64 ให้นายจ้างและแรงงาน 3 สัญชาติ(ลาว กัมพูชา เมียนมา) ดำเนินการเข้าสู่กระบวนการจ้างงานตามกฎหมาย ภายในวันที่ 1-30 พ.ย.64 รวมถึงประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมกลุ่มแรงงาน MOU นั้น เนื่องด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและสถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน พร้อมกับควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งได้มีมติให้มีการตรวจสถานที่ประกอบการต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว รวมถึงให้นำแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายเข้าสู่ระแบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย เพื่อให้ได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี ภายในวันที่ 30 พ.ย. 64 หลังจากนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายอย่าง จริงจัง

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สนองนโยบายรัฐบาลโดยได้กำชับและสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ให้ทำการประสานการปฎิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับนายจ้างและแรงงาน 3 สัญชาติ( ลาว กัมพูชา เมียนมา) เพื่อให้มาดำเนินการภายในกำหนดตาม มติ ครม. โดยหลังจาก 30 พ.ย.64 ให้ประสานการปฎิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการตรวจสอบสถานประกอบการ โรงงาน ที่พักคนงาน และพื้นที่สุมเสี่ยง ทำการสืบสวนปราบปราม จับกุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยผิดกฎหมายและนายจ้างที่เกี่ยวข้อง เพิ่มการกวดขันการตรวจตราการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย การลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยให้ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยร่วมปฏิบัติต่างๆ ในพื้นที่อย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ตลอดจนขยายผลไปยังเครือข่ายผู้ร่วมกระทำความผิดทุกราย พร้อมให้เจ้าหน้าที่ทุกนายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามหลักยุทธวิธีตำรวจและถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้กำหนด

หากตรวจพบว่าพื้นที่ใดหย่อนยาน ปล่อยปละละเลย หรือมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จะถือว่าเป็นความบกพร่อง ต่อหน้าที่ อีกทั้งเน้นย้ำให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุม กำกับดูแล การปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ห้ามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือเรียกรับผลประโยชน์ทุกกรณี ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อมก็ตาม หากพบจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาดทุกราย

ผู้ที่ให้การช่วยเหลือหรือนำพาบุคคลต่างด้าวลักลอบข้ามพรมแดน จะมีโทษฐานเป็นบุคคลที่นำพาบุคคลต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองซึ่งจะมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 100,000 บาท แต่ถ้าเกิดมีการช่วยเหลือซ่อนเร้นคือบุคคลต่างด้าวนั้นเข้ามาหลบอยู่ในบ้านท่านหรือมีการอำนวยความสะดวกให้ขึ้นรถหรือว่ามีการหลบหลีกด่านตรวจต่างๆ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ในส่วนของการกระทำความผิดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวนั้น หากลักลอบหลบหนีเข้าเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ในกรณีนายจ้างรับคนต่างด้าวเข้าทำนายโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำมีโทษจำคุกและห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน 3 ปี ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกผลักดันออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างและแรงงาน 3 สัญชาติ รวมถึงสถานประกอบการต่างๆ เร่งดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบให้ถูกกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ก่อนวันที่ 30 พ.ย. 64 นี้ นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดสามารถแจ้งไปยัง Call Center ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหมายเลข 191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชั่วโมง