ลิ้นจี่ไทยวิกฤตผลผลิตน้อยราคาไม่โดนเกษตรกรเปลี่ยนใจปลูกพืชอื่น

222

ลิ้นจี่ไทยวิกฤตผลผลิตน้อยราคาไม่โดนเกษตรกรเปลี่ยนใจปลูกพืชอื่น

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ลิ้นจี่ปี 67 โดยคาดว่าการผลิตลิ้นจี่รวมทั้งประเทศปีนี้ มีเนื้อที่ให้ผล 85,260 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว2,435 ไร่ ให้ผลผลิต 17,045 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 23,791 ตัน เพราะเกษตรกรโค่นลิ้นจี่ทิ้งหันไปปลูกพืชอื่นแทน และจากหลายปีที่ผ่านมาผลตอบแทนไม่จูงใจ เกษตรกรจึงไม่ดูแลรักษา ประกอบกับช่วงเดือนธ.ค.66 – ม.ค.67 สภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากลิ้นจี่ต้องใช้อุณหภูมิต่ำประมาณ 15 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ จึงจะแทงช่อดอก ดังนั้นลิ้นจี่ในปีนี้จึงออกดอกช้ากว่าปีที่แล้ว บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศจึงลดลง

หากพิจารณาถึงสถานการณ์ในแต่ละภาคจะพบว่า ภาคเหนือ เนื้อที่ให้ผลรวม 76,052 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 3.10 ผลผลิต 14,577 ตัน ลดลงร้อยละ 57.07 เพราะเกษตรกรโค่นต้นลิ้นจี่เพื่อไปปลูกพืชอื่น และหลายปีที่ผ่านมาผลตอบแทนลิ้นจี่ไม่จูงใจและเป็นพืชที่ดูแลยาก ประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่อง ทำให้ลิ้นจี่ในปีนี้ออกดอกช้ากว่าปีที่แล้ว อีกทั้งต้นลิ้นจี่บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อที่ให้ผล 3,188 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.37 ผลผลิต 1,874 ตัน ลดลงร้อยละ 4.92 เนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเนื่องจากจ.นครพนมเป็นแหล่งผลิตสำคัญ มีต้นลิ้นจี่ที่ปลูกใหม่ในปี64 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้เป็นปีแรก แต่เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่อง สลับกับมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ลิ้นจี่ออกดอกล่าช้าและไม่ติดผล ขณะที่ ภาคกลาง เนื้อที่ให้ผล 6,020 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 1.68 เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกทุเรียน มะพร้าวน้ำหอม และส้มโอ ผลผลิต 594 ตัน ลดลงถึงร้อยละ 87.91 เพราะสภาพอากาศหนาวเย็นไม่ต่อเนื่อง ทำให้ลิ้นจี่แตกใบอ่อนแทนการแทงช่อดอก โดยเฉพาะในจ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้รับผลกระทบมากที่สุด ต้นลิ้นจี่ไม่สามารถออกดอกและติดผลได้ ผลผลิตจึงลดลงด้วย

ทั้งนี้ ภาพรวมของผลผลิตลิ้นจี่ปีนี้ลดลงมากโดยผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด มาตั้งแต่เดือนมี.ค. ถึง ก.ค. ผลผลิตออกมากสุดในเดือนพ.ค. และมิ.ย.ที่ลิ้นจี่จะออกประมาณ 8,387 ตัน ทั้งนี้ สศก. จะได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป และจะรายงานผลพยากรณ์รอบต่อไปให้ทราบเป็นระยะ โดยข้อมูลพยากรณ์ จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการไม้ผลในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป.

#Thaitabloid#สำนักข่าวไทยแทบลอยด์#ลิ้นจี่ไทย