อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เผย สถานการณ์ปะการังฟอกขาวมีแนวโน้มดีขึ้นหลังเข้าสู่ฤดูฝน อุทยานฯทางทะเลยังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าตามที่ได้เกิดปะการังฟอกขาว ในเขตอุทยานชาติทางทะเลทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ข้อมูลถึงปัจจุบันรวมแล้ว 21 แห่ง (ข้อมูลระหว่างวันที่ 2 เม.ย.- 29 พ.ค.2567) ประกอบด้วย
(1) อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทย จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อุทยานแห่งชาติหาดวนกร อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงัน และอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมการ)
(2) อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติแหลมสน อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อุทยานแห่งชาติกมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา
โดยพบเจอปะการังฟอกขาว ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล 163 บริเวณ ปะการังฟอกขาวรุนแรงมาก (การฟอกขาว >50%) จำนวน 63 บริเวณ ปะการังฟอกขาวรุนแรง (การฟอกขาว 11-50%) จำนวน 61 บริเวณ ปะการังฟอกขาวไม่รุนแรง (การฟอกขาว 1-10%) จำนวน 37 บริเวณ ปะการังสีซีดจาง จำนวน 2 บริเวณ และเริ่มมีปะการังตายจากการฟอกขาว 1-10% จำนวน 7 บริเวณ
ต่อมาจึงได้สั่งการให้อุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตปะการังฟอกขาวเพิ่มขึ้น ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล พิจารณาประกาศปิดการท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งปะการังเพื่อลดกิจกรรมที่จะก่อผลกระทบเร่งการเกิดปะการังฟอกขาว โดยรับรายงานว่ามีการปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของอุทยานแห่งชาติไปแล้ว 12 แห่ง ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติซึ่งปิดการท่องเที่ยวตามฤดูกาล จำนวน 6 แห่ง และปิดการท่องเที่ยวเนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉิน จำนวน 6 แห่ง
โดยล่าสุดได้รับรายงานสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล จากการสำรวจและติดตามของอุทยานแห่งชาติทางทะเล และศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 1-5 โดยการติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม ส่งผลให้สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในขณะนี้มีแนวโน้มคงที่ ไม่มีการฟอกขาวในระดับรุนแรงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกและมีปริมาณเมฆเพิ่มขึ้น เมฆจะช่วยในการบดบังแสงแดดที่ตกกระทบสู่ท้องทะเล ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลง เฉลี่ย 30 – 31 องศาเซลเซียส นอกจากนี้บางพื้นที่มีกระแสน้ำเย็น ช่วยทำให้แนวโน้มการฟอกขาวดีขึ้น
สำหรับในอนาคตอันใกล้นี้ คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งบางพื้นที่ยังมีแนวปะการังที่มีสภาพสมบูรณ์ สามารถเป็นแหล่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไปได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังจากการฟอกขาวเพิ่มขึ้น อุทยานแห่งชาติบางแห่ง ได้มีมาตรการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาว ในอุทยานแห่งชาติทางทะเล จนกว่าสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังจะคลี่คลาย