ปลัด พม. เผย ตั้งศูนย์วอร์รูม เร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุพลุระเบิด ย้ำ 7 วันอันตราย ระดมนักสังคมสงเคราะห์ประกบเยียวยาจิตใจทุกครอบครัว
วันที่ 19 มกราคม 2567 เวลา 08.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวว่า วานนี้ (18 ม.ค. 67) เวลา 20.30 น. ตน พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวง พม. และทีม พม.หนึ่งเดียว จังหวัดสุพรรณบุรีและใกล้เคียง ร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พลุระเบิด ที่วัดโรงช้าง ตำบลศาลาขาว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งตนรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งกับทุกครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ หลังจากเสร็จพิธี ได้เข้าไปพูดคุยให้กำลังกับญาติผู้เสียชีวิต และพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากทีม พม.หนึ่งเดียว
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์ความสูญเสียครั้งนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้กำชับว่า ให้จัดตั้งศูนย์วอร์รูม (War Room) ของกระทรวง พม. ขึ้นมา เพื่อเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกคน ซึ่งเราจะทำในเรื่องเร่งด่วน คือ เรื่องการเยียวยาทางด้านจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือญาติ โดยเฉพาะใน 7 วันอันตรายนี้ เราจะให้นักสังคมสงเคราะห์ เข้าไปประกบทุกครอบครัวของผู้เสียชีวิต และทำการประเมินข้อมูลของครอบครัวทั้งหมด ว่าพบกลุ่มเปราะบางที่เป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ ที่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ เพื่อที่จะเข้าไปพูดคุยให้กำลังใจ และประเมินทางด้านจิตใจ ซึ่งเรียกว่าเป็น การจัดการรายกรณี (Case Management : CM) โดยเป็นเรื่องการให้คำปรึกษาตามหลักสังคมสงเคราะห์ แต่บางเรื่องที่เป็นเชิงลึกจะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จะต้องมีจิตแพทย์เข้ามา ซึ่งกระทรวง พม. ได้ระดมใช้นักสังคมสงเคราะห์จากจังหวัดใกล้เคียงสุพรรณบุรี ไม่ว่าจะเป็น ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม พระนครศรีอยุธยา และกาญจนบุรี เป็นต้น และมาจัดเป็นทีมๆ ละ 3 – 4 คน ต่อ 1 ครอบครัว เข้าไปประกบและทำงานร่วมกันแล้วดึงข้อมูล ประเมินทั้งหมด จึงติดตามเป็นรายบุคคล ซึ่งบางคนอาจจะไม่ได้อยู่บ้านหลังเดียวกัน เราต้องตามไปประเมินทางด้านจิตใจด้วย
นายอนุกูล กล่าวต่อไปอีกว่า เรื่องเร่งด่วนต่อไปคือ ด้านความเป็นอยู่ เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้าในเรื่องของเงินสงเคราะห์ประเภทต่างๆ และเราจะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องอาชีพ สุขภาพ รวมทั้งหนี้นอกระบบ โดยเราจะต้องเข้าไปประเมินเพื่อจะได้ทราบข้อมูลในสิ่งที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องการให้ช่วยเหลือ ซึ่งมีนักสังคมสงเคราะห์เข้าไปประเมินเชิงลึกแล้ว เพื่อที่จะให้ได้รับการคลี่คลาย และปรับตัวกับการมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ทั้งนี้ เมื่อสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวแล้ว และมีการเยียวยาจิตใจแล้ว เราจำเป็นต้องเข้าไปดูแลในเรื่องความเป็นอยู่ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้สามารถฟื้นกลับมามีศักยภาพในการทำงานและมีชีวิตอยู่ต่อได้
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการช่วยเหลือในระยะยาว กระทรวง พม. จะเข้าไปดูเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อม สภาพบ้านให้เหมาะสมปลอดภัยกับการอยู่อาศัยทั้งผู้สูงอายุและคนพิการ อีกทั้งจะมีการพัฒนาทักษะอาชีพ สนับสนุนเงินทุนประกอบอาชีพ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น กรณีเด็ก 3 ครอบครัว ที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว เราต้องเข้าไปดูแลทางด้านสภาพจิตใจค่อนข้างสูงและใกล้ชิด และในระยะยาวจะมีเงินครอบครัวอุปถัมภ์เข้าไปช่วยรายเดือน บางรายต้องเข้าไปช่วยเหลือด้านการฝึกทักษะอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน จะต้องแนะนำอาชีพที่ไม่มีความเสี่ยง พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือในด้านอื่นๆ รวมถึงการเยียวยาชุมชน ด้วยการบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง