วิวาทะ..!! ปมครองยาบ้า10เม็ด รอง ผบ.ตร.ยันไม่เกิน 5 เม็ด

360

       พลันที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประเด็นจะประกาศกฎกระทรวงให้ผู้เสพยาเสพติดสามารถครอบครองยาบ้าได้ไม่เกิน 10 เม็ด หนึ่งในแนวทางการบำบัดผู้ติดยาเสพติด

      ปรากฏว่ากลายเป็นประเด็นวิวาทะร้อนแรงถูกนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมถึงนักกฎหมายวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก บางคนดูแคลนว่านพ.ชลน่าน ไม่รู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

บางคนให้ความเห็นเชิงห่วงว่า จะเกิดขบวนการมดงานที่เอเย่นต์แบ่งยาให้เดินต่ำกว่า 10 เม็ด เมื่อถูกจับจะไม่ติดคุก จะกลายเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐนอกลู่หาประโยชน์ได้อย่างแยบยล โดยช่วยกลุ่มผู้ค้าที่ถูกจับเกิน 10 เม็ด บันทึกของกลางให้เหลือ 10 เม็ด กลายเป็นผู้เสพแลกกับผลประโยชน์

  ซึ่งประเด็นนี้ในแวดวงตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองกลุ่มสีเทาต่างทราบกันดีและปฏิบัติการสม่ำเสมออยู่แล้ว แต่บางครั้งถึงขั้นหักหลังกันเพราะเจ้าหน้าที่รัฐเรียกผลประโยชน์สูงเกินไป

  สำหรับประเด็นผู้เสพควรจะครอบครัวยาบ้ากี่เม็ด เป็นปัญหาถกเถียงกันมาตลอด นับแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ให้ครอบครองไม่เกิน 15 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ มาในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมัยนั้นเตรียมแก้ไขกฎกระทรวงฯถ้าใครครอบครองเกินกว่า 1 เม็ดเข้าข่ายผู้ค้า แต่รัฐบาลหมดวาระเสียก่อน

  แต่ไม่ว่าฝ่ายนโยบายจะให้ผู้เสพครอบครองได้กี่เม็ด ไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายนโยบายเพราะไม่ได้ลงมือปฏิบัติเอง แต่ปัญหาจะไปตกอยู่ที่ผู้ปฏิบัติในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายมากกว่า

  ซึ่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศอ.ปส.ตร.) สะท้อนว่า เพื่อประโยชน์ ในการขับเคลื่อนงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามนโยบายรัฐบาล ลดการแพร่ระบาดยาเสพติดในชุมชุนและตัดวงจรผู้ค้ารายย่อยให้หมดไป เห็นควรกำหนดปริมาณยาเสพติดไว้ที่ 5 หน่วยการใช้หรือ 5 เม็ด เท่านั้น

     ”ข้อมูลนี้ได้ผ่านการหารือในเวทีการประชุม ศอ.ปส.ตร.ในยุคที่พล.ต.อ.ดำรงค์ศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.ในขณะนั้นเป็นประธานฯ โดยให้เหตุผลว่าเป็นปริมาณยาเสพติดที่ผู้ค้ารายย่อยไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี หากกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 10 หน่วยการใช้หรือ 10 เม็ด เป็นปริมาณที่ผู้ค้ารายย่อยนิยมจำหน่ายในชุมชน หากถูกจับสามารถเลี่ยงการถูกดำเนินคดี โดยสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้ จะทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชนและจะเกิดผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ในอนาคตผู้ค้ากลุ่มนี้จะพัฒนาไปเป็นผู้ค้ารายใหญ่ต่อไป

 “พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ระบุและว่า หากในอนาคตเพิ่มเต็มเกณฑ์กำหนดปริมาณที่ใช้ครอบครองเพื่อเสพชัดเจนแล้ว ผลดีจะตามมาคือจะช่วยการดำเนินการกับผู้ค้ารายย่อยและการคัดแยกผู้เสพเข้าสู่ระบบการบำบัดมีความชัดเจนขึ้น หากคัดแยกผู้ค้ารายย่อยไปสู่ระบบการดำเนินคดีได้มากและลดความต้องการซื้อจากผู้เสพในชุมชุน จะช่วยลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้

     ขณะที่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผบ.ตร.ในฐานะรักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)ให้ความเห็นว่า ฝ่ายการแพทย์ให้ความเห็นว่าไม่เกิน 10 เม็ดเป็นผู้เสพมีองค์ประกอบพิจารณาหลายประเด็น ทั้งเรื่องสารบริสุทธิ์ การซักถามผู้เสพ ได้แก่ ถ้าเสพยาบ้า 1 เม็ดมีสารบริสุทธิ์ 10-20 มิลลิกรัม การออกฤทธิ์แสดงอาการมั่นใจ การควบคุมตัวเองลดลง หากเสพ 5 เม็ด มีสารบริสุทธิ์ 50-100 มิลลิกรัม จะกระสับกระส่าย โมโหง่าย ถ้าเสพมากกว่า120 มิลลิกรัมจะเสียชีวิต อันนี้เป็นเชิงการแพทย์

    “การพิจารณาว่าจำนวนการครอบครองเกินกี่เม็ดจึงถือว่าเป็นผู้ค้านั้น ต้องดูพฤติกรรมด้วยเพราะบางคนเสพ1-3 เม็ด/วัน จะมีอาการเช่น หัวเราะทั้งวันหรือขยันขึ้น ถ้าเสพ 7-10 เม็ด จะเริ่มมีอาการหนักขึ้น ดังนั้นการพิจารณาจะนำหลายๆปัจจัย อาทิ จำนวนเม็ดหรือปริมาณสารแอมเฟตามินและพฤติกรรมมาพิจารณาร่วมกัน”พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ระบุและว่า ในมุมของผู้บังคับใช้กฎหมายการกำหนดการครอบครองเพื่อเสพ 10 เม็ด จะทำให้มีผู้ค้ารายการย่อยมากขึ้น จะบอกว่ามี1-2เม็ดแล้วบอกว่ามีไว้เพื่อเสพ มันไม่ใช่ตำรวจมีรายงานการสืบสวนก่อนจะไปถึงตัวผู้กระทำผิดอยู่แล้ว

    “นโยบายเร่งด่วนตอนนี้คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีตัวเลขผู้เสพอยู่ 530,000 คน มีกลุ่มสีแดง เป็นกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อสังคม จำนวน 32,000 คน ต้องเอาคนกลุ่มนี้เข้าสู่กระบวนการบำบัดให้ได้ก่อน”พล.ต.ท.ภาณุรัตน์กล่าวย้ำ

    เสียงสะท้อนทั้งจาก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐและพล.ต.ท.ภาณุรัตน์ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายปราบปรามยาเสพติด ต้องรับฟังอย่างยิ่งเพราะเป็นเสียงของผู้ปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตรง เพราะการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้บรรลุต้องดำเนินการในหลากหลายมิติ

    โดยเฉพาะมิติที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ จะมีทั้งนักการเมืองแทบทุกกลุ่ม รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม ยอมเป็นเกราะคุ้มกันคอยอำนวยการความสะดวกให้ขบวนการค้ายาเสพติดลำเลียงยาเสพติดเข้าประเทศไทยแบบสบายใจเฉิบ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ก่อนโตนำมาซื้อเสียงและซื้อตำแหน่ง

   ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการให้นโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติดบรรลุผล เสียงท้วงติงจากตำรวจไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด !!!