ตร.ไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพสร้างสื่อสังคมออนไลน์ปลอม โฆษณาหลอกลวงรับสมัครนักพากย์เสียง

33811

วันที่ 6 ต.ค.66 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีนักแสดงหญิงชื่อดังถูกมิจฉาชีพนำชื่อบริษัทของตนไปแอบบ้างประกาศโฆษณาหานักพากย์เสียง หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ นั้น จากการตรวจสอบจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่าในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวจำนวนหลายราย โดยมิจฉาชีพจะสร้างช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Page Instagram Tiktok ปลอมขึ้นมา แอบอ้างเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ ประกาศทำการโฆษณา “รับสมัครนักพากย์เสียง รายได้ดี ใช้เสียงสร้างรายได้ สามารถทำเป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมได้” หากสนใจจะให้ติดต่อไปยังพนักงานบริษัทผ่านแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หากผู้เสียหายสนใจติดต่อไป มิจฉาชีพจะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ประสบการณ์ทำงาน ถ่ายภาพใบหน้า และแจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ผู้เสียหายทราบ จากนั้นจะหลอกลวงผู้เสียหายเข้ากลุ่มไลน์ และเริ่มทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น กดไลก์สินค้า รับชมสินค้าของบริษัท และสำรองเงินในจำนวนเล็กน้อยเพื่อซื้อสินค้าเมื่อทำกิจกรรมครบ หรือเสร็จสิ้นตามจำนวนก็จะได้รับเงิน และผลกำไรคืนเล็กน้อยจริง โดยอ้างว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการทดลองงาน เมื่อผ่านจะได้เข้าไปคุยกับมิจฉาชีพอีกรายที่อ้างว่าเป็นผู้จัดการ ซึ่งจะแจ้งผู้เสียหายให้ทำกิจกรรมสนับสนุนบริษัท เพื่อจะได้ผ่านเข้ารอบการว่าจ้างงานต่อไป โดยจะหลอกให้ทดสอบพากย์เสียง พร้อมกับโอนเงินเพื่อซื้อสินค้าซึ่งอ้างว่าเป็นอุปกรณ์จำเป็นที่ต้องใช้ในการทำงาน เช่น ไมโครโฟนสำหรับฝึกร้องเพลง และพากย์เสียง เป็นต้น โดยแจ้งว่าผู้เสียหายจะได้รับเงินคืนพร้อมค่อคอมมิชชั่น โดยเริ่มจากให้โอนจำนวนน้อยก่อนแล้วได้รับเงินจริง กระทั่งสินค้ามีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้เสียหายโอนเงินไปแล้วก็จะไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด มิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลต่างๆ หากผู้เสียหายไม่ยอมโอนเงินก็จะถูกข่มขู่ เช่น หากไม่โอนเงินจะทำการอายัดบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย รวมถึงสมาชิกที่อยู่ภายในกลุ่มก็จะไม่ได้รับเงินคืนด้วย ซึ่งสมาชิกดังกล่าวก็เป็นมิจฉาชีพที่สร้างบัญชีผู้ใช้อวตารขึ้นมาหลอกลวงผู้เสียหาย

จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – วันที่ 30 ก.ย.66 พบว่า การหลอกลวงโอนเงินเพื่อหารายได้เสริมจากการทำกิจกรรม มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 44,250 เรื่อง หรือคิดเป็น 13.20% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 5,425 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 3 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองลงมาจากการหลอกลวงให้ลงทุน และการหลอกลวงทางโทรศัพท์เป็นขบวนการ (แก๊ง Call Center)

ตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญาทางเทคโนโลยี และอาชญากรรมรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ทำภารกิจ หรือทำงานออนไลน์เพื่อหารายได้เสริม โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนรู้เท่าทันภัยที่แฝงมากับเทคโนโลยี

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวยังคงมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่อง โดยมิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ทั้งนี้เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน จึงหลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาก็ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมการเงินใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ ทั้งนี้ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้

(1) ระมัดระวังคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ หารายได้เสริม ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มิจฉาชีพมักจะแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

(2)หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน

(3)หากมีความประสงค์จะทำงานให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือโทรไปยังสายด่วนของตำรวจไซเบอร์ หมายเลข 1441 เพื่อปรึกษาว่างานดังกล่าวเป็นมิจฉาชีพหรือไม่

(4) หากสมัครทำงานไปแล้ว พบว่ามีการติดต่อให้สำรองเงิน โอนเงิน วางเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินก่อนจะทำงานได้ ให้ฉุกคิดทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด

(5) ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวใดๆ มิจฉาชีพมักให้เหยื่อส่งหลักฐาน ข้อมูลส่วนบุคคล อ้างว่าใช้ในการสมัครงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

(6) ไม่โอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา และควรตรวจสอบเลขบัญชี หรือชื่อเจ้าของบัญชีก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่

(7) ในปัจจุบันมิจฉาชีพมักใช้วิธีการปลอมหนังสือมอบอำนาจขึ้นมา อ้างว่าบริษัทให้ทำการโอนเงินผ่านบัญชีชื่อบุคคลธรรมดาได้

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์