เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564ที่ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เพื่อกำหนดแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำหรับการประชุมครั้งนี้มีข้าราชการตำรวจระดับผู้บังคับการขึ้นไปเข้าร่วมการประชุมฯ ทั้งสิ้นจำนวน 515 นาย และกำหนดรูปแบบการประชุมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ดังนี้ ประชุม ที่ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้บังคับบัญชาระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 21 นาย ผู้บัญชาการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า จำนวน 42 นายและประชุมผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือรับชมผ่านการถ่ายทอดสด ระดับรองบัญชาการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า จำนวน 160 นาย ผู้บังคับการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า จำนวน 292 นาย
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า จากวีดิทัศน์ที่ได้ชมไปเป็นการทำงานของพวกเราทั้งหมด 2 แสนกว่าคนในรอบปีที่ผ่านมา มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ต้องขอขอบคุณทุกคนทุกระดับชั้น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บริหารตั้งแต่ระดับกองบัญชาการ กองบังคับการ ผู้กำกับการรวมถึงเจ้าหน้าที่ในระดับผู้ปฏิบัติด้วย เราต้องทำงานต่อไป ที่ผ่านมา 1 ปี เรามีการปรับเรื่องการบริหารงานหลายอย่าง ภารกิจหลักที่จำเป็นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นภารกิจอันดับ 1 คือภารกิจอารักขาและรักษาความปลอดภัยองค์พระประมุข และการดูแลปกป้องสถาบัน การดูแลงานจิตอาสา โดยเฉพาะในช่วงเกิดอุทกภัย เป็นผู้นำพี่น้องประชาชนในการเข้าไปแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือดูแลประชาชน ส่วนเรื่องของการบริหารจัดการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ขออนุมัติก.ตร.ในการปรับศูนย์ต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มี 3 ประเภท ประกอบด้วยศูนย์อาชญากรรมพิเศษ ศูนย์ปฏิบัติการ และศูนย์บริหารงาน รวม 19 ศูนย์ จะมีรองผบ.ตร.เป็นผู้บริหารในแต่ละศูนย์ โดยมีที่ปรึกษาพิเศษเป็นรองหัวหน้า
ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า ส่วนการปราบปรามอาชญากรรมหลักๆ ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการระดมจับกุมกันมาตลอดปี ปีนี้จัดการรับคดีไปทั้งหมดล้านกว่าคดี เฉพาะเรื่องยาเสพติดประมาณ 300,000 คดี ตัวเลขของกรทำผิดบนโลกโซเชียลยังเป็นหลักพัน แต่ในหลักความเป็นจริงพบมีมากกว่านั้น ฉะนั้นในปีนี้จะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามการกระทำผิดที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการกระทำผิดด้วยให้มากขึ้น รวมถึงเรื่องเฟคนิวส์ด้วย เรื่องของโซเชียลมีเดียในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมากล้นจนคนแยกไม่ออกว่าอะไรจริงอะไรเท็จ หลักการของการทำงานของเรานอกจากการปราบปรามที่สำคัญกว่านั้นคือการให้ความรู้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สอท. ปอท. บช.ก. ความยากลำบากในการทำงานเรื่องนี้คือการพิสูจน์ตัวตนผู้กระทำผิดว่าใครเป็นคนทำ เพราะเกี่ยวพันกับเรื่องเทคโนโลยี ในปีที่ผ่านมาพยายามพัฒนาทีมงานด้านไอทีขึ้นมาและจะทำอย่างต่อเนื่อง อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ส่วนหนึ่งจะจัดซื้อจากต่างประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเราจะพัฒนาใช้เอง ต้องขอบคุณทางกระทรวงอุดมศึกษาที่ได้ให้ทุนการศึกษาในระดับชั้นปริญญาโทในต่างประเทศจำนวน 4 ทุนในเรื่องของเทคโนโลยีให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วยนักเรียนนายร้อยที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี 1 ทุน และอีก 3 ทุน จะให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสายงานนี้ นอกจากนี้จะต้องสร้างศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ดิจิทัล (Digital forensic Lab) ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะโลกอนาคตการกระทำผิดเหล่านี้จะมีเพิ่มมากขึ้น แม่แบบของศูนย์ดูจากโรงเรียนเอฟบีไอ หวังว่าจะต้องพัฒนาให้ได้ เพื่อสร้างบุคลากรด้านนี้ให้เพิ่มมากขึ้นรวมถึงการบริหารจัดการคดีบนโลกโซเชียล การรับแจ้งความออนไลน์ จะต้องทำให้ประชาชนสามารถแจ้งความได้ทุกสถานีตำรวจโดยบันทึกข้อมูลผ่านซอฟแวร์ที่สร้างขึ้น
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า อาชญากรรมอีกประเภทหนึ่งที่จะเน้นในปีนี้ คือเรื่องยาเสพติด ตนเคยอธิบายไปในหลายๆ เวทีแล้วว่าต้นทางที่เกิดไม่ได้อยู่ในประเทศเรา จับเท่าไหร่ก็เจอเท่านั้น คดียาเสพติด 3 แสนคดี ผู้ต้องหาประมาณ 3 แสนราย ใน 3 แสนรายมีครึ่งหนึ่งเป็นผู้เสพ จึงนำเสนอรัฐบาลว่าตำรวจพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ แต่คงต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการสร้างสถานบำบัดอย่างเป็นระบบ การบำบัดมีทั้งชุมชนบำบัดและการบำบัดในสถานพยาบาล วิธีการบำบัดก็ต้องเอาวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นตัวนำ แต่ในปีงบประมาณนี้จะเน้นเรื่องชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนยั่งยืน ด้วยการใช้วิธีชุมชนบำบัด โดยจะของบกลางในการดำเนินการตัวเลขประมาณ 20,000 ราย หากไปเทียบกับผู้ที่ติดยาก็คงไม่ใช่แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เราจะไม่วัดผลด้วยปริมาณการจับผู้เสพแต่จะวัดผลว่าจะคืนคนที่เลิกจากการติดยาเสพติดคืนสู่สังคมได้เท่าไหร่
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนการดำเนินการกับข้าราชการตำรวจที่เดินนอกลู่นอกทาง กำลังพยายามคิดถึงระเบียบว่า จะหาดาบซักเล่มหนึ่งให้จเรตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องหมายในการให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการตำรวจ ปีที่ผ่านมามีการไล่ตำรวจออกจากราชการ 283 นาย แต่ใช่ว่าเราจะมีความสุขกับตัวเลขเหล่านี้ เพราะในความเป็นจริงมันไม่ควรจะมีเลย ดังนั้นผู้บังคับบัญชาต้องใกล้ชิดต้องดูแล โดยจะเน้นไปยังหัวหน้าสถานีเป็นหลัก ถ้าเกิดอะไรไม่เหมาะไม่ควรในสถานีตำรวจ หัวหน้าสถานีต้องรับผิดชอบ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาที่เป็นธรรมและทุกคนยอมรับ จะไม่มีกลั่นแกล้งใคร และต้องฝากให้ผู้บังคับบัญชาไปดูเรื่องความเป็นอยู่ ที่พักอาศัยของผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ผ่านมาเรามีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่ง ผบช. และผบก. ต้องไปขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อ
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนคดีความมั่นคงที่ผ่านมาทั้งปี มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่กทม.อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีคนถามตนว่าเมื่อไหร่จะเลิกกันซะที ขอเรียนตรง ๆ ว่า เรื่องนี้ต้องไปดูที่ต้นเหตุ ถ้าต้นเหตุมาจากความเห็นต่างทางการเมืองหรือเห็นต่างทางอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ ตำรวจเป็นผู้แก้ปัญหาปลายเหตุ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงไม่ใช่คำตอบ เป็นสิ่งที่เราจะต้องจัดการต้องไม่ให้เกิด ที่สำคัญที่สุดเราต้องไม่เป็นคนสร้างเงื่อนไขเอง และต้องรู้จักใช้กฎหมายอย่างมีศาสตร์และศิลป์ รู้จักถึงความพอดี ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแต่ก็ต้องทำ ประชาชนไม่ได้คาดหวังให้ตำรวจดูแค่เรื่องตัวบทกฎหมาย แต่ประชาชนคาดหวังกว่านั้นมาก ซึ่งเราก็ต้องทำให้ได้
“ปีที่ผ่านมาเรามีตำรวจต้องสูญเสียดวงตา และเพิ่งไปจับผู้ก่อเหตุมาเมื่อวาน(1 ตุลาคม) ซึ่งเราต้องปรับยุทธวิธีให้ดีขึ้น แม้ว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนได้ แต่ต้องบอกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้อง และไม่สามารถจบปัญหาความเห็นแตกต่างด้วยวิธีการแบบนี้ ซึ่งตนได้มีโอกาสคุยกับเด็ก 2 คน ที่ถูกจับ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน สองคนนี้เป็นเพื่อนกัน ออกจากบ้านมานาน ทุกวันนี้เป็นพนักงานขับรถส่งของ ทั้งสองคนไม่เคยยุ่งกับยาเสพติด แต่วันนี้เป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงาน เรื่องพวกนี้เกิดจากการบ่มเพาะความคิดผ่านโซเชียลมีเดีย และมีผู้มีความคิดบริสุทธิ์แต่ต้น แต่ทำเรื่องแบบนี้อีกมากมาย จึงเป็นการบ้านที่งานความมั่นคงต้องไปดำเนินการ” ผบ.ตร. กล่าว
พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวต่อว่า เรื่องของพนักงานสอบสวนจะทำอย่างไรให้เขาทำหน้าที่มากกว่าตามตัวบทกฎหมาย อาจจะมีกรณีตัวอย่างมาให้ฝึกอบรม ยกตัวอย่างตำรวจบางที่เน้นการเจรจา เช่น คดีข่มขืนมาแจ้งความ พนักงานสอบสวนคิดแค่ว่าเรื่องนี้ผู้หญิงผู้ชายตกลงปลงใจอยู่ด้วยกันมานานแล้ว อาจจะเป็นความโกรธชั่ววูบไม่มีอะไร คิดแบบนี้มองได้สองมุม คือคิดแบบนักปกครอง และคิดแบบขี้เกียจทำ จะคิดแบบใดก็แล้วแต่ แต่ต้องประเมินให้เรื่องราวมันจบ
อย่างไรก็ตาม ผบ.ตร. ระบุว่า ตำรวจสามารถส่งเรื่องร้องเรียนถึง ผบ.ตร. ได้ตลอดเวลา แต่สำคัญขอให้มีตัวตน ไม่ใช่อวตารที่ไม่รับผิดชอบต่อสิ่งที่พูด