หน้าแรกทั่วไทยประชุมทางไกล กำชับเทศกิจตรวจเข้มสถานที่ป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19

ประชุมทางไกล กำชับเทศกิจตรวจเข้มสถานที่ป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม 2564นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต ครั้งที่ 3/2564 เพื่อมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่เทศกิจ โดยมี ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักเทศกิจ และหัวหน้าฝ่ายเทศกิจ 50 สำนักงานเขต ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Teleconference)

ที่ประชุมรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจในการสนับสนุนภารกิจตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประกอบด้วย การปฏิบัติหน้าที่ดูแลและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยประจำสถานที่กักกันผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ (State Quarantine) ตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ​(1.) โรงแรมแอมบาสเดอร์​ เขตวัฒนา, (​2.) โรงแรมมายโฮเทล​ เขตห้วยขวาง, (​3.) โรงแรมไอบิส​ เขตห้วยขวาง ​และ (4.) โรงแรมธำรงค์อินน์​ เขตบางกอกน้อย 

การจัดระเบียบและอำนวยความสะดวกประชาชนเข้ารับการตรวจหาเชื้อโรค การฉีดวัคซีน การแจกถุงยังชีพ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค (DMHTTA)  จัดเจ้าหน้าที่ประจำด่านคัดกรองการเดินทางของประชาชน 6 ด่าน ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา จำนวนยานพาหนะที่ตรวจ​ 15,996​ คัน จำนวนบุคคลที่ตรวจ​ 33,621​ คน แบ่งเป็น ชาย ​21,971 ​คน หญิง ​11,650 ​คน จำนวนบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (ต่างด้าว) 26​ คน แบ่งเป็นชาย​ 21 ​คน หญิง​ 5 ​คน (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ส.ค.64) การจัดรถสายตรวจเทศกิจ รับ – ส่งผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม Hospitel และศูนย์พักคอย (Conmunity lsolation) ตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.64 เป็นต้นมา มียอดดำเนินการ (ณ วันที่ 14 ส.ค.64) รับผู้ติดเชื้อส่งโรงพยาบาล   12,151 ราย รับผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วส่งกลับบ้านพัก 3,678 ราย รวมรับ – ส่ง 15,829 ราย  การตรวจสถานประกอบการ กิจการ กิจกรรมที่มีการสั่งให้ปิดและผ่อนคลาย การตรวจแคมป์คนงานก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมาตลอด 24 ชั่วโมง และการล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อรถยนต์ที่รับ – ส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลสนาม จำนวน 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน โรงพยาบาลเอราวัณ 2 ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก และโรงพยาบาลเอราวัณ 3 ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) เขตทุ่งครุ

​สำหรับการจัดระเบียบหาบเร่ – แผงลอย ที่กรุงเทพมหานครเสนอพื้นที่ทำการค้าในที่สาธารณะให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลให้ความเห็นชอบรวม 87 จุด ได้รับความเห็นชอบ 76 จุด อยู่ระหว่างพิจารณา 11 จุด ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับซากยานยนต์ จากการสำรวจซากยานยนต์ที่ถูกจอดทิ้งไว้ในที่สาธารณะมีจำนวน ​1,006​ คัน เคลื่อนย้ายแล้ว​ 993​ คัน เคลื่อนย้ายโดยเจ้าตัว 876 คัน สำนักงานเขตเคลื่อนย้าย 117 คัน คงเหลือซากยานยนต์ที่รอเคลื่อนย้าย 13​ คัน ดำเนินคดี 1 ราย (สำนักงานเขตบางรัก เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,500 บาท) ด้านการดำเนินการโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดหรือขับขี่บนทางเท้า ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.61-10 ส.ค.64 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 39,603 ราย ดำเนินการว่ากล่าวตักเตือน 3,830 ราย ดำเนินคดี 33,970 ราย อยู่ระหว่างดำเนินคดี 1,803 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 43,371,400 บาท โดยระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค.64 เทศกิจสำนักงานเขตสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 33 ราย แยกเป็นประชาชนทั่วไป 30 ราย วินจักรยานยนต์ 3 ราย ปรับเป็นเงิน 39,000 บาท ส่วนการดำเนินการกรณีป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.61-10 ส.ค.64 เทศกิจสำนักงานเขต จัดเก็บได้ 211,051 ป้าย แจ้งความดำเนินคดี 50 ราย จับ-ปรับ 5,247 คดี ปรับเป็นเงิน 14,839,00 บาท โดยระหว่างวันที่ 1-10 ส.ค.64 เทศกิจสำนักงานเขตจัดเก็บได้ 636 ป้าย จับปรับ 5 คดี ปรับเป็นเงิน 10,500 บาท

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจระมัดระวังตนเอง การ์ดต้องไม่ตกในการออกปฏิบัติงานโดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดเช่นกัน รวมทั้งมอบหมายเทศกิจสำนักงานเขตกวดขันตรวจแนะนำร้านอาหาร สถานบริการ ตลาด แคมป์คนงานภายในพื้นที่ เพื่อกำกับให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง สำหรับนโยบายการจัดระเบียบเมืองด้านอื่น ๆ อาทิ จอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า ป้ายโฆษณาที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต การจัดระเบียบผู้ค้า และความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอื่น ๆ ยังคงต้องเข้มงวดกวดขันเช่นที่ผ่านมา เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกรุงเทพมหานครต่อไป

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img