น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความเฟสบุ๊คส่วนตัว ‘Rosana Tositrakul‘ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (1 เม.ย) ในประเด็นนาฬิกาหรูตอนหนึ่งว่า “ตนไม่ได้โง่ รู้ว่านาฬิกายืมเพื่อนไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ใส่นาฬิกาของปัฐวาทเพื่อนรักมานานโข เอามาให้ใส่ วนไป เบื่อก็ส่งคืน…”
จากประเด็นดังกล่าว น.ส.รสนา กล่าวให้ความเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจและคลางแคลงใจอย่างสูง แต่ป.ป.ช ใช้เวลาถึง 4เดือน ได้แค่ตรวจสอบว่ามีนาฬิกาอยู่จริงทั้ง 22เรือน แต่ยังไม่สามารถหารายละเอียดเกี่ยวกับที่มาของนาฬิกาดังกล่าว อันที่จริง กรณีนี้ พล.อ ประวิตร ต้องเป็นผู้นำหลักฐานมาพิสูจน์ว่าตนเองไม่ใช่เจ้าของนาฬิกา จึงไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินโดยต้องนำหลักฐานของเจ้าของนาฬิกาตัวจริงมาแสดงต่อป.ป.ช ไม่ใช่กล่าวอ้างลอยๆ และให้ป.ป.ช ไปหาหลักฐานเอาเอง หากไม่มีหลักฐานมาแสดง ก็ต้องถือว่าพล.อ ประวิตรเป็นเจ้าของนาฬิกาทั้งหมด แม้มีหลักฐานมาแสดง ก็ยังขึ้นอยู่กับว่าป.ป.ช จะเชื่อหรือไม่ ดังกรณีของปลัดสุพจน์ ทรัพย์ล้อมที่แม้นำหลักฐานรถที่ตนใช้ประจำว่ามีคนอื่นเป็นเจ้าของมาแสดงต่อป.ป.ช แต่ป.ป.ช ก็ไม่เชื่อ หลักฐานนั้น เพราะหากป.ป.ช เชื่อง่ายๆเช่นนั้น ต่อไปก็จะเป็นการเปิดช่องให้บรรดานักการเมือง และข้าราชการหัวหมอทั้งหลายที่รับสินบน สามารถนำไปใช้เป็นข้ออ้างได้ ใช่หรือไม่
น.ส.รสนา กล่าวต่อไปว่า ต่อให้พล.อ ประวิตร มีหลักฐานว่านาฬิกาเป็นของเพื่อนที่ตายไปแล้วก็ตาม พล.อ ประวิตร ก็ยังไม่พ้นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 ที่ห้ามข้าราชการทางการเมืองและข้าราชการประจำรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดเกิน3,000 บาท นาฬิกามูลค่าราคาเรือนละเป็นแสนเป็นล้านบาท 22เรือน มูลค่าร่วม 30ล้านบาท ถ้าพล.อ ประวิตรเช่ามาใส่ ย่อมต้องใช้เงินเกิน 3,000 บาทแน่นอน แต่การได้มาใส่โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ หรือเช่า ยิ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเพื่อนเอามาให้ใส่เป็นเวลานานโข ย่อมแสดงว่าได้รับประโยชน์อื่นใดจากผู้อื่นเกิน 3,000 บาทอย่างแน่นอน ใช่หรือไม่ ข้อความต่อไปนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยสำนักงาน ป.ป.ช
“ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าตำแหน่งใดจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลนอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมิได้ เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐมาตั้งแต่ ปี 2543 ต้องรับตามหลักเกณฑ์ดังนี้
1.รับจากญาติตามจำนวนที่เหมาะสมตามฐานานุรูป ทั้งของผู้ให้และผู้รับ
2.รับจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติ ราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลไม่เกิน 3,000 บาท
3.รับจากการให้ในลักษณะให้กับบุคลทั่วไป”
สังเกตว่าการให้ของขวัญแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีผู้ให้ไม่ใช่ญาติโดยหลักๆ จะมีเกณฑ์ 2 ประการคือ ประการที่หนึ่งจะต้องเป็นการให้ “โดยธรรมจรรยา” เท่านั้น หมายความว่า เป็นการให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดในโอกาสต่างๆ โดยปกติตามขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือวัฒนธรรม หรือให้กันตามมารยาทที่ปฏิบัติกันในสังคม เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ งานแต่งงาน งานบวช งานประเพณีต่างๆ และประการที่สอง ราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกิน 3,000 บาท
การให้ในโอกาสอื่นนอกเทศกาลแม้จะไม่เกิน 3,000 บาท หรือการให้ของขวัญในช่วงเทศกาลที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาทก็จะเข้าข่ายขัดกับประกาศ ป.ป.ช. ฉบับนี้ และตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. ไม่ใช่ว่าเมื่อให้ไม่เกิน 3,000 บาทแล้วจะถือว่าให้ได้ตลอดทั้งปีไม่จำกัดช่วงเวลา”
น.ส.รสนา กล่าวเพิ่มว่า ข้อความข้างต้นเป็นหลักเกณฑ์ที่สำนักงานป.ป.ช กำหนดและประกาศให้ทั้งข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำทั้งหมดต้องถือปฏิบัติเพื่อป้องการการรับสินบน สินน้ำใจ หรือส่วย เพื่ออำนวยประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งที่ผู้มอบหวังได้รับจากนักการเมืองผู้ใช้อำนาจรัฐ หรือข้าราชการ ไม่ว่านาฬิกาทั้ง22เรือนจะเป็นของพล.อ ประวิตรหรือยืมเพื่อนมาก็ตาม ย่อมผิดหลักเกณฑ์ตามพ.ร.บ ป.ป.ช ข้อใดข้อหนึ่งอย่างแน่นอน จึงขอให้ป.ป.ช หยุดประวิงเวลา และตัดสินคดีของพล.อ ประวิตรด้วยความเที่ยงตรง เพื่อเป็นการรักษากฎหมายของป.ป.ช และรักษาความน่าเชื่อถือขององค์กรให้เป็นหลักแก่บ้านเมือง
“ส่วนพล.อ ประวิตรในฐานะชายชาติทหาร ควรถือคติของพันท้ายนรสิงห์ที่ยอมเสียสละแม้ชีวิตตนเอง เพื่อรักษากฎหมายของบ้านเมือง ท่านจะได้เป็นที่เคารพและเป็นความทรงจำที่ดีของสังคม แทนที่จะทำตนแบบเจ้าพระยาโกษาธิบดี(เหล็ก) ผู้ยืนกระต่าย ขาเดียวว่าตนมิได้รับสินบน ซึ่งจะถูกก่นด่าจากสังคมไปชั่วลูกชั่วหลาน ขอให้ท่าน (และป.ป.ช.ด้วย) เลือกว่าจะเอาแบบไหนจะดีกว่ามาแถลงแบบแอพพริวฟูลเดย์ (April Fool Day) ใช่หรือไม่!?!” น.ส.รสนา กล่าว
[fb_pe url=”https://www.facebook.com/WorkpointNews/videos/605878539781428/” bottom=”30″]