ที่ห้องพิจารณาคดี 4 ศาลแขวงดอนเมือง ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT200 หมายเลขดำ อ.1768/2560 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทแจ๊คสัน อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบกิจการประเภทขายส่งเครื่องจักร เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงผู้อื่นโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอก ซึ่งการหลอกลวงนั้นได้ทรัพย์สินไปฯ ตามประมวลกฎหมายหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และ 91
โดยอัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 ต.ค.2560 ระบุพฤติการณ์ความผิเสรุปว่า ระหว่างวันเดือนใดไม่ปรากฏชัด ช่วงต้นปี 2550 – 14 ก.ย.50 เวลากลางวันจำเลยได้ฉ้อโกง ทุจริตด้วยการหลอกลวง จำหน่ายเครื่องตรวจวัตถุระเบิดอัลฟ่า 6 รุ่นคอมแพ็ค โดย บริษัท คอมแพ็ค ฯผู้จัดจำหน่ายในประเทศอังกฤษ ให้กับศูนย์รักษาความปลอดภัย ที่เป็นหน่วยราชการในสังกัด กองบัญชาการกองทัพไทย รวม 8 เครื่อง มูลค่าเครื่องละ 1.3 ล้านบาท รวม 10,400,000 บาท จำเลยให้การปฏิเสธ
ล่าสุดวันนี้นายหยาง เซี๊ยะ เซียง ชาวจีนไต้หวัน กรรมการ ของบริษัทฯ จำเลย เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย พร้อมกับนายคมสัน ศรีวนิชย์ ทนายความ
ขณะที่ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้ง 2 ฝ่ายที่นำสืบหักลางกันแล้ว เห็นว่า ฝ่ายอัยการโจทก์แล้ว ยังไม่มีพยานหลักฐาน น้ำหนักเพียงพอให้เชื่อได้ว่า บริษัทฯ จำเลยรู้เห็นเกี่ยวกับการจัดทำแคตตาล็อกแสดงคุณสมบัติเครื่องอันเป็นเท็จที่เกินจริงว่า สามารถตรวจจับได้ทุกสถานการณ์ ทุกสสาร โดยไม่ต้องชาร์จไฟ แต่ใช้ไฟฟ้าสถิตย์จากตัวผู้ใช้ บริษัทจำเลยเพียงแต่นำเข้าเครื่องและเอกสารจากบริษัท คอมแพ็คฯมาจำหน่ายอีกทอดหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจำเลยอาจไม่ล่วงรู้ได้ว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ หรือร่วมกับบริษัทผู้ผลิต กระทำการอันเป็นเท็จ ซึ่งหากพบการกระทำที่ร่วมบุคคลอื่นก็ชอบที่กองทัพฯ ผู้เสียหายจะยื่นฟ้องอาญา หรือฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายนั้นได้อีก ดังนั้นจำเลยคดีนี้จึงยังไม่มีความผิด ให้ยกฟ้อง
ภายหลังนายคมสัน ศรีวนิชย์ ทนายความ บริษัทแจ๊คสันฯ กล่าวว่า คดีนี้ ยังไม่มีการฟ้องเป็นคดีแพ่ง อย่างไรก็ตามบริษัท แจ็คสันฯ เป็นเพียงผู้นำเข้าเครื่องมา ไม่ใช่ผู้ผลิต ขณะที่บริษัทผู้จำหน่ายในอังกฤษนั้นก็ถูกดำเนินคดี แต่ศาลอังกฤษพิพากษายกฟ้องเช่นกัน ส่วนบริษัทผู้ผลิตก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง