หน้าแรกเศรษฐกิจ-การเงินกรมการค้าฯโชว์ผลงานตรวจพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้า

กรมการค้าฯโชว์ผลงานตรวจพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้า

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแข่งขันทางการค้ามีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดมาตรการทางการค้าต่างๆ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) รวมถึงการเกิดสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งสหรัฐฯ กำหนดมาตรการทางภาษีภายใต้มาตรา 301 และมาตรา 232 โดยได้ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนกว่า 12,000 รายการ ทำให้ประเทศที่ถูกกำหนดมาตรการต่างๆ ทำการหลบเลี่ยงการชำระภาษีโดยใช้การแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อการส่งออกมากขึ้น และใช้ไทยเป็นฐานในการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าโดยการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบทั่วไป (Form C/O ทั่วไป) ของไทยประกอบการส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ

กรมฯ ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงได้มีนโยบายการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันการใช้ไทยเป็นฐานในการแอบอ้างถิ่นกำเนิด รวมทั้งปกป้องผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินการอย่างถูกต้องไม่ให้ต้องได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าดังกล่าวด้วย โดยได้ติดตามและตรวจสอบสถิติการค้าสำหรับสินค้าเฝ้าระวังกว่า 222 รายการอย่างใกล้ชิด 6 กลุ่ม พบมีสินค้าบางรายการมีการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยแล้วส่งออกต่อไปยังต่างประเทศ ในกรณีการตรวจพบการแอบอ้างดังกล่าวประเทศผู้นำเข้าจะขึ้นบัญชีดำกับผู้ส่งออกไทย และจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากผู้นำเข้าเพิ่มเติมตามที่กำหนดพร้อมค่าปรับ และกรมฯ จะขึ้นทะเบียนสินค้าเฝ้าระวังในระบบและเพิ่มความเข้มงวดในการออก Form C/O ทั่วไป โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องแสดงหลักฐานเอกสารแหล่งที่มาของวัถุดิบที่ใช้ในการผลิตด้วย

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้หารือเพื่อป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแจ้งรายการสินค้าเฝ้าระวังให้แก่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออก Form C/O ทั่วไปด้วยเช่นกัน รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานประเทศผู้นำเข้า

สำหรับการตรวจสอบสินค้าไปยังประเทศปลายทาง ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2563 ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มเฝ้าระวังได้มูลค่ากว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จากการทำงานเชิงรุกในการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าของกรมฯ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่าสินค้าที่ส่งออกมาจากไทยเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง รวมทั้งไม่มีการปลอมแปลง Form C/O หรือนำ Form C/O มาใช้แอบอ้างถิ่นกำเนิด และที่สำคัญประเทศคู่ค้าจะไม่กำหนดมาตรการทางการค้ากับไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางการค้าของไทยในตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้น

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img